แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินบางส่วนที่ชำระให้จำเลยเกินไปคืน ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่เป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานทรัพย์ซึ่งซื้อขายขาดตกบกพร่อง จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 มาบังคับมิได้ กรณีต้องนำอายุความในมูลลาภมิควรได้ ตามมาตรา 419 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 1 ปี นับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายคือโจทก์ผู้ซื้อรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น
เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้โจทก์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ระบุเนื้อที่ดินขาดไปจากที่โจทก์ชำระราคาให้จำเลย หลังจากรังวัดตรวจสอบให้เป็นที่แน่นอนอีกครั้งแล้วจึงแก้ไขในโฉนดระบุเนื้อที่ดินใหม่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 ดังนั้น อายุความ1 ปีย่อมเริ่มนับตั้งแต่ตรวจสอบทราบแน่นอนแล้ว คือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ยังไม่เกิน 1 ปี และไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันชำระราคาเกินไปคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยต้องคืนเงินส่วนเกินให้โจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินประมาณ 22 ไร่ อันเป็นที่ดินส่วนหนึ่งตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 792 ให้โจทก์ทั้งสองในราคาไร่ละ 240,000 บาท วันทำสัญญาโจทก์ทั้งสองชำระเงินมัดจำให้จำเลย 1,600,000 บาท ราคาที่ดินจะรวมเป็นเท่าใดแน่ขึ้นอยู่แก่เนื้อที่ดินที่ปรากฏเป็นจริงหลังจากโจทก์ทั้งสองขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดซึ่งเมื่อรังวัดแบ่งแยกเป็น น.ส.3 ก. อีกฉบับหนึ่ง ได้ส่วนที่จะซื้อขาย 19 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา โจทก์ทั้งสองจึงชำระเงินส่วนที่เหลือ 3,178,400 บาท แก่จำเลยและจดทะเบียนโอน ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีให้โจทก์นำ น.ส.3 ก. ดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นโฉนดได้เนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โจทก์ทั้งสองขอให้เจ้าพนักงานรังวัดใหม่ เนื้อที่คงเหลือเพียง 16 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา โจทก์ทั้งสองจึงชำระราคาเกินไป 3 ไร่ 99 ตารางวา คิดเป็นเงิน 779,400 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามจำเลยให้คืนเงิน จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 779,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่จะซื้อขายอยู่ทางตะวันตกของถนนสายหนองใหญ่-ปรกฟ้าโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงส่งและรับมอบที่ดิน โดยวิธีให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการรังวัดแบ่งแยก โจทก์ทั้งสองรังวัดแบ่งแยกได้ 19 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา จำเลยก็จดทะเบียนโอนขาย และโจทก์ทั้งสองรับมอบที่ดินไปครบถ้วน กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องลาภมิควรได้โจทก์ทั้งสองอ้างว่าทราบถึงเหตุเนื้อที่ดินขาดไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2535 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 779,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมี น.ส.3 ก. จากจำเลยในราคาไร่ละ 240,000 บาท โดยรังวัดออก น.ส.3 ก. แบ่งแยกจากที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งในครั้งแรกเจ้าพนักงานระบุว่า เป็นเนื้อที่ 19 ไร่3 งาน 64 ตารางวา โจทก์ทั้งสองรับโอนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2533 และชำระราคาแก่จำเลยเท่าจำนวนเนื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาเปลี่ยน น.ส.3 ก. เป็นโฉนด โฉนดออกวันที่12 ตุลาคม 2535 ในโฉนดระบุเนื้อที่ดิน 17 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โจทก์ทั้งสองขอรังวัดใหม่ได้เนื้อที่เพียง 16 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา เจ้าพนักงานแก้ไขในโฉนดลงเนื้อที่ใหม่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีเป็นเรื่องข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ซึ่งซื้อขายขาดตกบกพร่อง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกอายุความเรื่องนี้ขึ้นตัดฟ้องโจทก์ทั้งสอง หรือเป็นเรื่องลาภมิควรได้ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินบางส่วนที่ชำระให้จำเลยเกินไปคืน ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่เป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานทรัพย์ซึ่งซื้อขายขาดตกบกพร่อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 มาบังคับนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความในมูลลาภมิควรได้หรือไม่ ในปัญหาเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 กำหนดอายุความไว้ 1 ปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหาย ซึ่งในที่นี้โจทก์ทั้งสอง รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ระบุเนื้อที่ดินขาดไปจากที่โจทก์ทั้งสองชำระราคาให้จำเลย หลังจากรังวัดตรวจสอบให้เป็นที่แน่นอนอีกครั้งแล้ว จึงแก้ไขในโฉนดระบุเนื้อที่ดินใหม่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 ดังนั้น อายุความ 1 ปี ย่อมเริ่มนับตั้งแต่ตรวจทราบแน่นอนแล้ว คือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ยังไม่เกิน 1 ปี และไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันชำระราคาเกินไป คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยต้องคืนเงินส่วนเกินให้โจทก์ทั้งสอง
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 779,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง