แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทำไว้มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ดังนี้ “ข้อ 1 ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 เนื้อที่จำนวน 60 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้ ย. หลานสาว (ผู้คัดค้าน) จำนวน 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้กับมัสยิดสมาคมอิสลาม” แต่ข้อเท็จจริงผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดิน 3 แปลง ได้แก่ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 และตามพฤติการณ์มีข้อบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของผู้ตายว่าประสงค์จะยกเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรม คือผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามเท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 นั้น ผู้ตายมิได้ประสงค์จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลาม ดังนี้เมื่อผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 แล้ว ทั้งผู้คัดค้านมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันจะมีสิทธิรับมรดกนอกพินัยกรรมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีพินัยกรรม) ของนางด๊ะ อุหมัด ผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้จริง โดยพินัยกรรมระบุเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 60 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลาม โดยให้ผู้คัดค้านได้เนื้อที่ 50 ไร่ ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 50 ไร่ ให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้ว ทรัพย์มรดกอื่นจึงเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมซึ่งผู้คัดค้านไม่มีสิทธิได้รับ และผู้คัดค้านก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกอื่นอีกในฐานะทายาทโดยธรรม เนื่องจากมารดาผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไปเรียบร้อยแล้ว มิได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหรือทายาท ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมมิได้ระบุยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน ทรัพย์มรดกอื่นจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรม เมื่อผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้ว ผู้คัดค้านซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรมจึงไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกอื่นนอกพินัยกรรม ไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนได้ พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความแทนผู้ร้องในชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า นางด๊ะหรือด้ะ อุหมัด ผู้ตาย มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน โดยผู้ร้องเป็นน้องคนสุดท้อง ผู้คัดค้านเป็นบุตรนางฮาวอมณฑาหรือแสงศรี ซึ่งเป็นน้องของผู้ตายและเป็นพี่ของผู้ร้อง ผู้ตายรับผู้คัดค้านไปเลี้ยงดูตั้งแต่ผู้คัดค้านมีอายุได้ 2 ปี ต่อมาผู้ตายได้ถึงแก่กรรม ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวม 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ตำบลพระอาจารย์ (คลองหกวาสายล่างฝั่งเหนือ) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 ผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้องและบุคคลอื่น ก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีพินัยกรรม) ของผู้ตาย หลังจากนั้นผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 บางส่วนเนื้อที่ 50 ไร่ ตามที่ระบุในพินัยกรรมกับบ้าน 1 หลัง ให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่ไม่ได้แบ่งปันหรือโอนทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และ 778 ให้แก่ผู้คัดค้าน
คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้หรือไม่ ซึ่งพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทำไว้มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ดังนี้
“ข้อ 1 ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 อยู่ที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่จำนวน 60 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้นางสาวยุพิน มณฑา หลานสาว จำนวน 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้กับมัสยิดสมาคมอิสลาม อยู่หมู่ที่ 7 ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก”
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พินัยกรรมจะระบุความไว้ดังกล่าว ทั้งได้ระบุชื่อผู้ที่จะได้รับทรัพย์มรดกไว้ เพียงนางสาวยุพิน มณฑา (ผู้คัดค้าน) กับมัสยิดสมาคมอิสลาม เป็นผู้รับพินัยกรรมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินเพียง 3 แปลง เท่านั้น ได้แก่ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม กับที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 หากผู้ตายมีเจตนาจะยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 แล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนได้ แม้หากผู้ตายจะจำเลขโฉนดที่ดินไม่ได้ แต่ก็สามารถระบุสถานที่ที่ดินตั้งอยู่ได้ นอกจากนี้ไม่ปรากฏเหตุผลที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดกแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากคำเบิกความของผู้คัดค้านเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องว่า ผู้ตายบอกผู้คัดค้านว่าได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 1 แปลง ให้แก่ผู้คัดค้าน ส่วนที่ดินอีก 2 แปลง และบ้าน 1 หลัง ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใด ดังนี้ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของผู้ตายว่าประสงค์จะยกเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรม คือผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามเท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 นั้น ผู้ตายมิได้ประสงค์จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามดั่งที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 แล้ว ทั้งผู้คัดค้านมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันจะมีสิทธิรับมรดกนอกพินัยกรรมคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.