แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจะจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตามสัญญาได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทโอนสิทธิการเช่าต่อเจ้าพนักงานเสียก่อนวันนัดจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานต้องออกประกาศเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันจดทะเบียน หากไม่มีผู้ใดคัดค้านเจ้าพนักงานจึงจะจดทะเบียนให้ และต้องมีหนังสือยินยอมให้โอนสิทธิการเช่าจากผู้ให้เช่าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานด้วย ในขณะเดียวกันโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอน ปรากฏว่าในวันจดทะเบียนโอน จำเลยไม่ได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนดังกล่าวและไม่มีหนังสือยินยอมของผู้ให้เช่าไปแสดง โจทก์ก็ไม่ได้เตรียมเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย กรณีของโจทก์และจำเลยปรับ ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 210, 211 ถือว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา และต่างบอกเลิกสัญญาแก่กันและกันแล้ว โดยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป จึงต้องให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ และเมื่อจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียก เอาเบี้ยปรับตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 605,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ในวันนัดจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตามสัญญา จำเลยได้เตรียมเอกสารและบุคคลพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ไปรับโอนและไม่ชำระเงินที่เหลืออีก 900,000 บาท ให้จำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายเป็นอันเลิกกัน จำเลยใช้สิทธิริบเงิน 300,000 บาท ได้โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ต้องส่งมอบอาคารที่จำเลยมอบให้โจทก์เข้าใช้ประโยชน์ในระหว่างยังไม่จดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าคืนให้จำเลย แต่โจทก์ยังคงอยู่อาศัยในอาคารดังกล่าว ขอให้บังคับโจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบ ที่ดินและอาคารให้จำเลยในสภาพเรียบร้อย
โจทก์ให้การแก้ไขฟ้องแย้งว่า โจทก์ส่งมอบอาคารตามฟ้องแย้งคืนให้จำเลยตั้งแต่วันที่จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์แถลงขอส่งมอบอาคารตามสัญญาคืนจำเลย และชำระค่าเสียหายให้จำเลยเพราะเหตุส่งคืนล่าช้าจำนวนหนึ่ง จำเลยยอมรับ และแถลงขอยุติเรื่องตามฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ของวัดสวนป่าน 1 คูหา เลขที่ 409/3 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวกับโจทก์ ในราคา 1,200,000 บาท ชำระล่วงหน้า 300,000 บาท โดยผ่อนชำระ 12 เดือน เดือนละ 25,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระในวันจดทะเบียนโอน ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ปรากฏว่าไม่มีการ จดทะเบียนโอนและไม่มีการชำระเงินที่เหลือในวันที่กำหนด หรือในวันหลังตลอดมา
โดยจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และขอริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวนนั้นพร้อมเบี้ยปรับ มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความตรงตามกันว่า การจะจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตามสัญญาได้ ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงาน เพื่อเจ้าพนักงานออกประกาศ 30 วัน หากไม่มีผู้ใดคัดค้านเจ้าพนักงานจึงจะจดทะเบียนให้และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า อันเห็นได้ว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องจัดการใน 2 เรื่องนี้ จากพยานโจทก์และจำเลยที่นำสืบ รับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้ใส่ใจที่จะเตรียมการเรื่องจดทะเบียนโอนดังที่จำเลยเบิกความรับว่า ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 หากโจทก์นำเงินมาชำระ 900,000 บาท เจ้าพนักงานก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้พฤติการณ์ แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยรออยู่เฉย ๆ ให้ถึงวันนัดจดทะเบียนโอนเพื่อหวังจะริบเงิน 300,000 บาท ของโจทก์ ด้วยได้ทราบมาว่าโจทก์ยังหาเงิน 900,000 บาทไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องเตรียมการไว้ เพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือการจดทะเบียนโอน หากโจทก์หาเงิน 900,000 บาท มาได้ทัน ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยรีบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาจะริบเงินที่โจทก์ชำระไว้แล้วทันทีในเวลาเพียง 3 วันหลังจาก วันนัดจดทะเบียนโอนขณะเดียวกัน ได้ความตามคำเบิกความรับของตัวโจทก์ว่า ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็น วันนัดจดทะเบียนโอนโจทก์ไม่มีเงิน 900,000 บาท ที่จะต้องชำระให้จำเลย กรณีของโจทก์และจำเลยปรับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 210, 211 ฟังได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา แต่โจทก์และจำเลยต่างบอกเลิกสัญญาแก่กันและกันแล้ว แสดงว่าทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป จึงต้องให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 กล่าวคือ จำเลยต้องคืนเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แต่โจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 จึงให้เท่าที่ขอ และเมื่อจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไม่คืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วให้โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 แก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,625 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.