คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5395/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ จึงไม่วินิจฉัยฎีกาของจำเลยและพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ), 127 ทวิพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิและพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสองพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นบทหนักมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้องจึงเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย”

พิพากษายกฟ้อง

Share