คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ละเมิด ++
เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่บริษัท ด.สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน ฉบับที่สองเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ (A/C PAYEE ONLY) ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเช่นกัน โจทก์มอบหมายให้ ร.พนักงานของโจทก์เป็นผู้ไปรับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากบริษัท ด. เมื่อ ร.ได้รับเช็คพิพาทมาแล้ว ร.กับพวกได้ร่วมกันทุจริตปลอมเช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าว โดยการขีดฆ่าชื่อโจทก์ในช่องผู้รับเงิน แล้วปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของบริษัท ด.กำกับบริเวณที่มีการขีดฆ่าชื่อโจทก์โดยไม่มีตราประทับของบริษัท ด.แล้วกับพวกได้นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่ปลอมดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีของพวก ร.เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีของพวก ร.ไป อันเป็นเหตุให้ ร.กับพวกได้รับเงินดังกล่าวไปทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของบริษัท ด.และในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อบัญชีกระแสรายวันของบริษัท ด. มีว่า จะต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายของบริษัท ด.ตามที่ระบุไว้พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัท เมื่อมีการนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 พนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของเช็คที่นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1จึงควรใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้ดีว่าเหตุใดการลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัท ด.ตรงที่มีการแก้ไขข้อความในช่องผู้รับเงิน จึงไม่มีการประทับตราสำคัญของบริษัทกำกับการแก้ไข และทำการสอบถามผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายถึงเหตุที่ไม่มีการประทับตราสำคัญของบริษัทกำกับการแก้ไขก่อน เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมต้องมีความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คตลอดจนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเช็คมากกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป แม้เช็คดังกล่าวจะเป็นเช็คผู้ถือก็ตาม เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบการแก้ไขข้อความในช่องผู้รับเงินซึ่งไม่มีตราประทับของบริษัท ด. ดังกล่าว เป็นเหตุให้ ร.กับพวกนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่ปลอมนั้นเข้าฝากในบัญชีของพวก ร.ซึ่งไม่ใช่บัญชีของผู้มีสิทธิรับเงินตามกฎหมายเพื่อเรียกเก็บเงิน และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีของพวก ร.ไปเป็นเหตุให้ ร.กับพวกได้รับเงินไปจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขาอโศก-ดินแดง จำเลยที่ ๓ เป็นสมุห์บัญชีจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๘ และวันที่ ๓๑มกราคม ๒๕๓๙ โจทก์มอบให้นายรังสรรค์ ไพศาล พนักงานของโจทก์เรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ ซึ่งบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัดได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาอโศก-ดินแดง ขีดคร่อมระบุ “เอซี เปยี โอนลี่”ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน ดังนี้ คือ เช็คลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๘ จำนวนเงิน๗๗,๘๔๒.๕๐ บาท และเช็คลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘จำนวนเงิน ๑๙,๙๐๒ บาทนายรังสรรค์ได้รับเช็คสองฉบับดังกล่าวแล้ว แต่นายรังสรรค์กับพวกได้ร่วมกันทุจริตปลอมเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวโดยการขีดฆ่าชื่อโจทก์ในช่องผู้รับเงินออก แล้วลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด แต่ไม่มีตราของบริษัท ไดเร็ค ๑๐๐ จำกัดประทับกำกับบริเวณที่มีการขีดฆ่าชื่อโจทก์ ซึ่งไม่ครบถ้วนตามข้อตกลงที่บริษัทไดเร็ค ๑๐๐จำกัด ทำกับจำเลยที่ ๑ ต่อมาระหว่างวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม๒๕๓๙ นายรังสรรค์กับพวกได้นำเช็คที่ปลอมดังกล่าวข้างต้นไปฝากเข้าบัญชีของพวกนายรังสรรค์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาอโศก-ดินแดงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับจำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ตรงที่มีการกำกับรอยขีดฆ่าชื่อโจทก์ผู้รับเงิน ซึ่งถ้าใช้ความระมัดระวังจะเห็นได้ว่าเป็นลายมือชื่อปลอม ทั้งไม่มีตราประทับและเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่จำเลยทั้งห้า ก็จ่ายเงินเข้าบัญชีของพวกนายรังสรรค์ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ ดังกล่าวรวมเป็นเงิน ๙๗,๗๔๔.๕๐บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า แม้มีการแก้ไขในช่องผู้รับเงินจาก “โจทก์”เป็น “สด” และ “นายชัยณรงค์ บุญตอง” ของเช็คตามฟ้องแต่ละฉบับ ก็เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเช็คตามมาตรา ๑๐๐๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเกี่ยวกับความรับผิดแห่งหนี้ระหว่างคู่สัญญาคือผู้สั่งจ่าย ผู้ทรง และผู้สลักหลังแต่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็ค จึงไม่ต้องรับผิด อย่างไรก็ตาม เช็คตามฟ้องทั้งสองฉบับไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” แม้มีการแก้ไขชื่อผู้รับเงินและไม่มีตราบริษัทไดเร็ค๑๐๐ จำกัด ประทับ แต่เช็คทั้งสองฉบับก็ยังเป็นเช็คผู้ถือ การที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินตามเคยให้แก่ผู้ถือเช็คหรือผู้ทรงคนใหม่ จะถือว่าจำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อไม่ได้เมื่อพนักงานของโจทก์ทุจริต จึงเป็นความประมาทของโจทก์เอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นที่ยุติว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่บริษัท ไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ฉบับแรกลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๘ จำนวนเงิน ๗๗,๘๔๒.๕๐ บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๙ เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน ฉบับที่สองลงวันที่ ๓๐พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จำนวนเงิน ๑๙,๙๐๒ บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๐ เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ (A/C PAYEE ONLY) ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเช่นกัน โจทก์มอบหมายให้นายรังสรรค์ ไพศาล พนักงานของโจทก์เป็นผู้ไปรับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด เมื่อนายรังสรรค์ได้รับเช็คพิพาทมาแล้ว นายรังสรรค์กับพวกได้ร่วมกันทุจริตปลอมเช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าว โดยการขีดฆ่าชื่อโจทก์ในช่องผู้รับเงินแล้วปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด กำกับบริเวณที่มีการขีดฆ่าชื่อโจทก์โดยไม่มีตราประทับของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ต่อมาระหว่างวันที่ ๑๘ตุลาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๙ นายรังสรรค์กับพวกได้นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่ปลอมดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีของพวกนายรังสรรค์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีของพวกนายรังสรรค์ไปอันเป็นเหตุให้นายรังสรรค์กับพวกได้รับเงินดังกล่าวไปโดยการกระทำทุจริตครั้งนี้
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้นถือได้หรือไม่ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่าการที่นายรังสรรค์กับพวกได้ร่วมกันปลอมข้อความในช่องผู้รับเงินโดยเพียงขีดฆ่าชื่อโจทก์ในช่องผู้รับเงิน แล้วปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัดกำกับบริเวณที่มีการขีดฆ่าชื่อโจทก์โดยไม่มีตราประทับของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ทั้ง ๆที่เงื่อนไขการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด เอกสารหมาย จ.๗ และในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อบัญชีกระแสรายวันของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด เอกสารหมาย จ.๖ มีว่า จะต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ตามที่ระบุไว้พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัท เมื่อมีการนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ ๑จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า มีหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของเช็คที่นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ ๑ จึงควรใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้ดีว่าเหตุใดการลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ตรงที่มีการแก้ไขข้อความในช่องผู้รับเงิน จึงไม่มีการประทับตราสำคัญของบริษัทกำกับการแก้ไข และทำการสอบถามผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายถึงเหตุที่ไม่มีการประทับตราสำคัญของบริษัทกำกับการแก้ไขก่อน เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยที่ ๑ ซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ย่อมต้องมีความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค ตลอดจนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเช็คมากกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป แม้เช็คดังกล่าวจะเป็นเช็คผู้ถือดังที่จำเลยให้การก็ตาม เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบการแก้ไขข้อความในช่องผู้รับเงินซึ่งไม่มีตราประทับของบริษัทไดเร็ค ๑๐๐ จำกัด ดังกล่าว เป็นเหตุให้นายรังสรรค์กับพวกนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่ปลอมนั้นเข้าฝากในบัญชีของพวกนายรังสรรค์ ซึ่งไม่ใช่บัญชีของผู้มีสิทธิรับเงินตามกฎหมายเพื่อเรียกเก็บเงิน และจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีของพวกนายรังสรรค์ไปเป็นเหตุให้นายรังสรรค์กับพวกได้รับเงินไปในการกระทำทุจริตดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน๙๗,๗๔๔.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share