คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14208/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่เพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง แม้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 อาจจะไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามลักษณะลาภมิควรได้ ซึ่งต้องไปว่ากล่าวกันอีกต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ต่อไป โจทก์ย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่เวลาที่โจทก์เรียกรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 วรรคสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถแทนนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 600,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 54,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 9,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 654,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ ในราคา 629,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 60 งวด งวดละ 9,993.46 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 11 ธันวาคม 2549 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 11 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 8 งวด และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2550 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ถือเป็นการบอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิยึดถือรถที่เช่าซื้อไว้ต่อไป จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้ฎีกา ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยทั้งสองไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเรียกทรัพย์คืนอันเกิดจากนิติกรรมเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 415 วรรคสอง จึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่เพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง แม้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 อาจจะไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามลักษณะลาภมิควรได้ ซึ่งต้องไปว่ากล่าวกันอีกต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ต่อไป โจทก์ย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่เวลาที่โจทก์เรียกรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 415 วรรคสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถแทนนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share