คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6349/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ผู้กู้ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันถูกพิทักษ์ทรัพย์ในอีกคดีหนึ่ง หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และแม้จะยังไม่ถึงกำหนดในขณะนั้น เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ก็อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จนได้มีการประนอมหนี้และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 56จึงนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 140 กับธนาคาร โจทก์สาขาปากเกร็ด ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 3,000,000 บาท กำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 27 กันยายน 2527 ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โจทก์และจำเลยที่ 1 หักทอนบัญชีกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2528จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 10,288,795.99 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์แล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2526 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 จำเลยที่ 3 ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2528 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ล้มละลายได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของนายพรชัย พานิช พยานโจทก์ว่าหลังจากทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินออกไปมากกว่านำเงินเข้าบัญชี และปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 ที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่30 กันยายน 2526 จำนวนเงิน 175,019.18 บาท วันที่ 18 ตุลาคม2526 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท วันที่ 12 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน596 บาท วันที่ 31 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน 180,853.15 บาท วันที่9 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน 2,343 บาท วันที่ 10 พฤศจิกายน2526 จำนวนเงิน 2,500 บาท วันที่ 14 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน651 บาท และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน 175,019.18 บาทเป็นต้น ดังนี้ แสดงให้เห็นว่า ก่อนจำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้ว อันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดอยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด โจทก์ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ของศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27, 91 และ 94 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวจนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share