แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่เกินห้าหมื่นบาท ส่วนโจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมกันมาเป็นคดีเดียวกัน แต่โจทก์ทั้งสามต่างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้โดยลำพังตนเอง แม้จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันเพื่อความสะดวกแต่การพิจารณาถึงสิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง การฟ้องคดีรวมกันหรือแยกกันย่อมไม่มีผลทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อปรากฏว่าค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 แต่ละคนเรียกร้องมาไม่เกินห้าหมื่นบาทการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฎีกา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดให้มีโรงฆ่าสัตว์ และต้องดูแลควบคุมให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ออกอาชญาบัตรให้แก่โจทก์เพื่อฆ่าสุกรในโรงฆ่าสัตว์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องจัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละก่อนนำออกไปจำหน่ายแก่ประชาชนในระหว่างเวลา 0.01 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาการที่สัตวแพทย์เพิ่งมาตรวจเนื้อสุกรชำแหละ และตีประทับตราให้นำเนื้อสุกรชำแหละออกจากโรงฆ่าสัตว์ได้ในเวลาประมาณ 10 นาฬิกาจนเป็นเหตุให้เนื้อสุกรชำแหละของโจทก์เน่าเสียหาย เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้จัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละภายในเวลาที่จะต้องตรวจตามหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการละเลย ประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ การที่โจทก์มีส่วนละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายโดยไม่นำเนื้อสุกรชำแหละที่ผ่านการตรวจจากสัตวแพทย์ และตีประทับตราแล้วออกจำหน่าย ทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาที่จะสามารถจำหน่ายได้บ้างอันจะเป็นการบรรเทาความเสียหายให้ลดน้อยลงได้ ศาลเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นผู้ขายเนื้อสุกรชำแหละในตลาดเช้าของจำเลยที่ 1 และได้รับอนุญาตให้ฆ่าสุกรที่โรงฆ่าสัตว์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เวลา 0.01 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกาโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีคณะเทศมนตรีประกอบด้วยนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีอีกสองนายเป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1เพื่อควบคุมรับผิดชอบการบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีโรงฆ่าสัตว์และควบคุมการอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ในเขตเทศบาล ตลอดจนมีหน้าที่จัดให้มีสัตวแพทย์และพนักงานเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ด้วย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ขณะเกิดเหตุ คดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นเทศมนตรีรับผิดชอบงานโรงฆ่าสัตว์มีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ฆ่าสัตว์และควบคุมการฆ่าสัตว์ในนามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นสัตวแพทย์ อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ตรวจโรงสัตว์หรือเนื้อสัตว์และอนุญาตให้นำเนื้อสัตว์ออกจากโรงฆ่าสัตว์ภายหลังจากการตรวจเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนบริโภค จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานประจำโรงฆ่าสัตว์ มีหน้าที่ประทับตราอนุญาตที่เนื้อสัตว์เมื่อมีการตรวจโรคสัตว์หรือเนื้อสัตว์แล้ว เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกใบอาชญาบัตรอนุญาตฆ่าสุกรให้โจทก์ทั้งแปด โดยจะต้องฆ่าในวันที่ 29 กรกฎาคม2526 ตามเวลาที่ระบุไว้ โจทก์ทั้งแปดฆ่าสุกรจำนวนที่ได้รับอนุญาตเสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ส่งจำเลยที่ 3 ที่ 4 มาปฏิบัติหน้าที่และมิได้มอบหมายให้บุคคลใดมาทำหน้าที่แทน และจำเลยที่ 3ที่ 4 ก็มิได้มาตรวจสอบและประทับตราอนุญาตเนื้อสุกรที่พวกโจทก์ทั้งแปดชำแหละแล้วว่าจะสามารถนำออกจำหน่ายให้ประชาชนบริโภคได้หรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งแปดไม่สามารถนำเนื้อสุกรชำแหละออกจากโรงฆ่าสัตว์ไปจำหน่ายให้ลูกค้าได้ทันเวลาตามปกติ เนื่องจากต้องห้ามตามสัญญาการฆ่าสัตว์ระหว่างโจทก์ทั้งแปดกับจำเลยที่ 1 และต้องห้ามตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ทราบเหตุความเดือดร้อนของโจทก์ทั้งแปดแล้วแต่กลับเพิกเฉยจงใจไม่กระทำการตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจ โดยรู้ว่าจะทำให้โจทก์ทั้งแปดเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งแปด เพราะโจทก์ทั้งแปดไม่สามารถนำเนื้อสุกรชำแหละไปจำหน่ายที่ตลาดเช้าได้ทันเวลา และเนื้อสุกรชำแหละของโจทก์ทั้งแปดเน่าเสียหายไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้ทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 31,635 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 15,616 บาทให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 89,549 บาท ให้โจทก์ที่ 4 ที่ 5 จำนวน 24,485บาท ให้โจทก์ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 จำนวน 96,403 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแต่ละสำนวนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งห้าสำนวนให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่สัตวแพทย์ประจำโรงฆ่าสัตว์เป็นการชั่วคราวและจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ประทับตราอนุญาตเมื่อสัตวแพทย์ตรวจเสร็จแล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยดีตลอดมา จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนดแล้ว แต่โจทก์ทั้งแปดที่นำสุกรมาฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ในวันเกิดเหตุทั้งหมดจำนวน 53 ตัว กลับพร้อมใจกันไม่ยอมนำสุกรที่ประทับตราแล้วออกไปจากโรงฆ่าสัตว์เอง จนเนื้อสุกรเน่าเหม็นไม่อาจใช้บริโภคได้ จำเลยที่ 3 ในฐานะสัตวแพทย์จึงต้องทำรายงานเสนอทำลายซากสุกรทั้ง 53 ตัว ถ้าหากโจทก์ทั้งแปดมิได้มีเจตนาจงใจกลั่นแกล้งหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อเองแล้ว โจทก์ทั้งแปดย่อมจะนำเนื้อสุกรไปขายได้ทันเวลา จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายและดอกเบี้ยต่อโจทก์ทั้งแปด เพราะเป็นการกระทำของพวกโจทก์เองที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำเอาเนื้อสุกรชำแหละออกจำหน่าย คงปล่อยทิ้งไว้จนเน่าเหม็น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน12,386 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 6,094 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 34,878 บาท ให้โจทก์ที่ 4 ที่ 5 จำนวน 9,392 บาท ให้โจทก์ที่ 6ที่ 7 ที่ 8 จำนวน 36,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องนายแพทย์นิคม ศิริไชย ในฐานะส่วนตัวยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 8 และจำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 4 ที่ 5 (คดีสำนวนที่ 4) และของจำเลยที่ 1 ในคดีสำนวนที่ 2 และที่ 4คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในสำนวนดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ที่ 1 เรียกร้องค่าเสียหายมาไม่เกินห้าหมื่นบาท ส่วนโจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมกันมาเป็นคดีเดียวกัน แต่โจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เป็นคู่สัญญาการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาคนละฉบับ และได้รับอนุญาตให้ฆ่าสุกรแยกต่างหากจากกัน กล่าวคือโจทก์ที่ 6 ได้รับอนุญาตให้ฆ่าสุกร 7 ตัว โจทก์ที่ 7 ได้รับอนุญาตให้ฆ่าสุกร 6 ตัว และโจทก์ที่ 8 ได้รับอนุญาตให้ฆ่าสุกร 4 ตัวจึงเป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนต่างก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้โดยลำพังตนเอง แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องคดีรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันโดยเห็นว่าเป็นความสะดวก แต่การพิจารณาถึงสิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง การฟ้องคดีรวมกันหรือแยกกันย่อมไม่มีผลทำให้สิทธิในการฎีกาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อปรากฏว่าค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 แต่ละคนเรียกร้องมาไม่เกินห้าหมื่นบาท การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาที่จำเลยที่ 1ฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยที่ 1 ควบคุมดูแลและปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามระเบียบแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้จงใจละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่อันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายโจทก์นั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8
ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3 หรือไม่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดให้มีโรงฆ่าสัตว์และต้องดูแลควบคุมให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อยตามระเบียบที่วางไว้ จำเลยที่ 1 ได้ออกอาชญาบัตรให้แก่โจทก์ที่ 3เพื่อฆ่าสุกรในโรงฆ่าสัตว์ของจำเลยที่ 1 และชำแหละเนื้อสุกรนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปตามสัญญาที่ทำไว้ วันเกิดเหตุไม่มีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มาตรวจและตีประทับตราเนื้อสุกรชำแหละ เพื่ออนุญาตให้นำเนื้อสุกรชำแหละออกไปจำหน่ายได้ตามปกติ โดยสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละและเจ้าหน้าที่มาตีประทับตราเนื้อสุกรชำแหละให้นำออกจากโรงฆ่าสัตว์ได้ในเวลาประมาณ 10 นาฬิกา ต่อมาเนื้อสุกรชำแหละของโจทก์ที่ 3 เน่าเสียหายแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละก่อนที่จะให้โจทก์ที่ 3 นำออกไปจำหน่ายแก่ประชาชน ทั้งนี้ การตรวจเนื้อสุกรชำแหละดังกล่าวจะต้องกระทำภายในช่วงเวลาการฆ่าและชำแหละสุกร ซึ่งโจทก์ที่ 3 นำสืบและจำเลยที่ 1 เบิกความรับฟังได้ว่า คือระหว่างเวลา 0.01 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา แม้ว่าในสัญญาฆ่าสุกรจะไม่ระบุว่าสัตวแพทย์จะต้องมาทำการตรวจเนื้อสุกรชำแหละเวลากี่นาฬิกาก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดให้มีสัตวแพทย์มาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 3 เพิ่งมาตรวจเนื้อสุกรชำแหละ และมีการตีประทับตราให้นำเนื้อสุกรชำแหละออกจากโรงฆ่าสัตว์ได้ในเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 มิได้จัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการละเลย ประมาทเลินเล่ออันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เหตุที่จำเลยที่ 3 มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละช้าเป็นเพราะปศุสัตว์จังหวัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3โดยตรงสั่งให้จำเลยที่ 3 ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ที่ด่านกักสัตว์ ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง ตามเอกสารหมาย ล.5 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อน จึงไม่ได้จัดส่งสัตวแพทย์อื่นไปปฏิบัติหน้าที่แทนนั้น ก็ไม่ใช่ข้อที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นอ้างให้พ้นความรับผิดได้
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโจทก์ที่ 3 ไม่นำเนื้อสุกรชำแหละออกไปจำหน่ายเองนั้น เห็นว่าแม้จะฟังได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 3 ตรวจเนื้อสุกรชำแหละและเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตีประทับตรานั้น เนื้อสุกรชำแหละยังสามารถจะนำไปจำหน่ายได้ก็ตาม แต่ขณะนั้นก็เป็นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา ซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นเวลาที่เลิกขายเนื้อสุกรชำแหละแล้ว โดยเริ่มขายตั้งแต่เวลา 2 นาฬิกา หรือ 3 นาฬิกาไปจนถึง 10 นาฬิกา หากโจทก์ที่ 3 จะนำเนื้อสุกรชำแหละไปขายก็คงขายได้ไม่มากนัก เพราะใกล้จะหมดเวลาที่ประชาชนจะมาซื้อตามที่เคยปฏิบัติมาเสียแล้ว ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ที่ 3 แต่ฝ่ายเดียวดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง เพียงถือได้ว่า โจทก์ที่ 3 มีส่วนละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเนื้อสุกรชำแหละเน่าเสียหายนั้นเกิดจากจำเลยที่ 1ไม่จัดหาสัตวแพทย์มาตรวจเนื้อสุกรชำแหละภายในเวลาที่จะต้องตรวจซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 แต่โจทก์ที่ 3 ก็มีส่วนละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย โดยไม่นำเนื้อสุกรชำแหละที่ผ่านการตรวจจากจำเลยที่ 3 และตีประทับตราแล้วออกจำหน่าย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงเวลาที่จะสามารถจำหน่ายได้บ้าง ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเสียหายให้ลดน้อยลงได้อีกประการหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 เพียงครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 3 ได้รับนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ให้เป็นพับ ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 6 โจทก์ที่ 7 และโจทก์ที่ 8 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 6 โจทก์ที่ 7และโจทก์ที่ 8 แก่จำเลยที่ 1