คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ไม่ใช่เป็นการร้องต่อศาลเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนยึดทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯมาตรา 158 แต่เป็นกรณีที่ร้องต่อศาลตามมาตรา 146 ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ถอนการยึดไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ต่อไป เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 เดิม ผู้ร้องร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์ที่ยึดจำนวน 20 รายการ เป็นเครื่องปรับอากาศและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งผู้ร้องนำมาติดตั้งและประดับบ้านของผู้ร้อง และผู้ร้องได้ให้จำเลยทั้งสองอยู่อาศัยกับใช้สอยทรัพย์ 20 รายการนั้น โดยมิได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรสาวโดยมิได้แยกทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการมาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยเฉพาะจึงฟังว่า ผู้ร้องได้ยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการให้บุตรสาวไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่ยึดทั้ง20 รายการ ไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์ที่ยึดทั้ง 20 รายการ นั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองชั่วคราว ต่อมามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย โจทก์นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ทรัพย์สินเป็นของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์สินที่ยึดเป็นของจำเลยทั้งสองมิใช่ของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ร้องต่างยื่นคำคัดค้านว่าทรัพย์สินเป็นของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินเป็นของจำเลยทั้งสองมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ตามคำร้องของโจทก์ และบังคับคดีต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า ฎีกาของผู้ร้องต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่ เห็นว่า นอกจากคดีนี้มีการฎีกาก่อนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248ที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับแล้ว คดีนี้ยังมิใช่เป็นการร้องต่อศาลเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนการยึดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 158 แต่เป็นกรณีที่ร้องต่อศาลตามมาตรา 146 ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ถอนการยึดนั้น ไม่ชอบ ขอให้สั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์นั้นต่อไป จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ฎีกาของผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 เดิมประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ทรัพย์สินที่ยึดทั้ง 20 รายการเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10101 ตำบลสนามจันทร์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยซื้อมาเมื่อวันที่ 15เมษายน 2501 เมื่อปี 2502 ผู้ร้องได้ปลูกบ้านบนที่ดินแปลงนี้คือบ้านเลขที่ 110 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2509 จำเลยที่ 1ได้สมรสกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้ร้อง ก่อนการสมรสผู้ร้องได้จัดซื้อและจ้างช่างมาทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านดังกล่าวให้เป็นเรือนหอของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้อยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวตั้งแต่สมรสตลอดมา จนเมื่อปี 2527 จำเลยทั้งสองจึงหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2528 ผู้ร้องได้โอนที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่แพทย์หญิงมัลลิกา สถิตย์วงศ์ บุตรสาวของผู้ร้องอีกคนหนึ่งโดยเสน่หา ครั้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2529โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยึดเครื่องปรับอากาศและเฟอร์นิเจอร์รวม 20 รายการ ซึ่งผู้ร้องเป็นผู้จัดซื้อและจ้างช่างมาทำประดับไว้ที่บ้านดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ผู้ร้องไม่ประสงค์จะให้ทรัพย์สินทั้ง 20 รายการตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองผู้ร้องเพียงต้องการให้จำเลยทั้งสองพักอาศัยที่ตัวบ้านอันเป็นเรือนหอและใช้สอยทรัพย์สินทั้ง 20 รายการดังกล่าวดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อผู้ร้องโอนที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรสาวของผู้ร้องอีกคนหนึ่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2528 โดยผู้ร้องมิได้แยกทรัพย์สินทั้ง 20 รายการดังกล่าว มาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยเฉพาะ แสดงว่าผู้ร้องประสงค์จะให้ทรัพย์สินทั้ง 20 รายการนั้นติดอยู่กับตัวบ้าน ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรสาวอีกคนหนึ่งของผู้ร้องด้วย จึงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้ง 20 รายการดังกล่าวให้บุตรสาวอีกคนหนึ่งของผู้ร้องไปแล้วผู้ร้องมิใช่เจ้าของทรัพย์สินทั้ง 20 รายการนั้นอีกต่อไป ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้น จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดทั้ง 20 รายการนั้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ที่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 2,312.50บาท จึงเสียเกินมา
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เกินแก่ผู้ร้อง

Share