คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6795/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 34 กำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครูซึ่งเลิกสัญญาการเป็นครูในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ ฯลฯ และระเบียบดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ ทั้งมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต”ตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือ ความประพฤติชั่ว โกงไม่ซื่อตรง
การที่โจทก์อนุญาตให้นักศึกษานำเอกสารที่เป็นธงคำตอบของข้อสอบคัดลอกตอบข้อสอบ โดยเอกสารดังกล่าวมิใช่เป็นตำราทั่วไป ถือได้ว่าโจทก์ประพฤติไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ข้อ 34(1) ทั้งการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อีกด้วย จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาการบัญชีโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้าง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 19,080 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,632 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 30,000 บาท และค่าจ้าง 14,968 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เจตนากระทำความผิดอาญาต่อนายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายโดยจัดทำสำเนาบทความหมิ่นประมาทโรงเรียนจากหนังสือพิมพ์แจกจ่ายนักศึกษาและครู และปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตโดยให้นักเรียนลอกข้อสอบ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าจ้างค้างจ่าย จำเลยชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทต่อจำเลยหรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรง แต่ถือได้ว่ามีเหตุเพียงพอในการเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 19,080 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 7,632 บาท แก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่เสียก่อน คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์จัดการสอบวิชาระบบบัญชีภาคฤดูร้อนโดยอนุญาตให้นักศึกษานำเอกสารแผนผังเข้าไปดูและคัดลอกตอบข้อสอบได้ แต่ไม่ปรากฏว่าในการจัดสอบด้วยวิธีดังกล่าวโจทก์ได้เรียกหรือรับหรือได้ผลประโยชน์เป็นเงินทองหรือทรัพย์สินจากนักศึกษาหรือผู้อื่น เห็นว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 34 กำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครูซึ่งเลิกสัญญาการเป็นครูในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ ฯลฯ และระเบียบดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ ทั้งมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การที่โจทก์อนุญาตให้นักศึกษานำเอกสารที่เป็นธงคำตอบของข้อสอบคัดลอกตอบข้อสอบ โดยเอกสารดังกล่าวมิใช่เป็นตำราทั่วไปถือได้ว่า โจทก์ประพฤติไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ข้อ 34(1) ทั้งการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อีกด้วยจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share