แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่ง มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานผู้ใดขาดคุณสมบัติ หรือมีเหตุต้องพ้นจากตำแหน่ง การจ้างเป็นอันระงับไปทันที แต่รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเท่านั้น โจทก์ที่ 1 ถึง 12 บกพร่องต่อหน้าที่หรือมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานอันถือว่าเป็นผู้ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยได้เต็มเวลา และเป็นการขาดคุณสมบัติ แต่ก็มิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึง 12 ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานเมื่อออกจากงานของจำเลยตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ มีหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชย ถือมิได้ว่าเงินที่จ่ายตามข้อบังคับดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชย แม้จะมีข้อบังคับระบุว่าพนักงานมีสิทธิรับเงินบำเหน็จเพียงอย่างเดียว และถือเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายก็ไม่มีผลบังคับ อุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้ง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางโดยยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงโดยชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายก็ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง ข้ออ้างว่าไม่เจตนาหาเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดไม่.
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 13
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างประจำรายวัน ทำงานที่โรงงานพิษณุโลก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2533 จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ฐานหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และเมื่อวันที่25 เมษายน 2533 โจทก์ที่ 13 ได้ลาออกจากงานโดยไม่มีความผิดโจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 แต่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามไม่ครบ และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 12 ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดและค่าชดเชย
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสามได้รับเงินบำเหน็จไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขแล้วนอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ถูกงดขั้นเงินเดือนในปี 2531และปี 2532 เป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกันเนื่องจากบกพร่องในหน้าที่การงานหรือมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง ซึ่งนายจ้างไม่จำต้องตักเตือนก่อนการออกจากงานของโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 เป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมาย ไม่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้วโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามข้อบังคับของจำเลยคือ ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2521 ข้อ 8 ระบุว่า พนักงานที่ออกจากงานตามข้อ 7 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียวและถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยแล้ว และไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยไม่ได้ผิดนัด และไม่มีเจตนาผิดนัดไม่จ่ายค่าชดเชย จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 และเงินบำเหน็จ แก่โจทก์ที่ 13 ตามจำนวนที่ระบุในคำพิพากษาพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในยอดเงินค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 มิถุนายน 2533)และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในยอดเงินบำเหน็จนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 ธันวาคม 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.1ว่า การที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ออกจากงานเพราะเหตุหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นการให้พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขแล้วและโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ถูกงดขั้นเงินเดือนในปี 2531และปี 2532 เป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกัน เนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่การงานหรือมีผลงานในหน้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 12 ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง การที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ออกจากงาน มิใช่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 นั้นเป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันมิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่การงานหรือมีผลงานในหน้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน อันถือว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้เต็มเวลา การจ้างเป็นอันระงับไปทันทีแต่รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย และการที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 บกพร่องต่อหน้าที่การงาน หรือมีผลงานในหน้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานอันถือว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจได้เต็มเวลานั้น ก็ไม่ใช่กรณีกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง การที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสองซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามสำนวนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.2 ว่า ตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 8 ระบุว่า พนักงานที่ออกจากงานตามข้อ 7 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียวและถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย ข้อบังคับดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเนื่องจากออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15(3) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การทอผ้า พ.ศ. 2498 โจทก์ทั้งสิบสามได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยไปแล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีก พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ได้ให้ความหมายของ “ค่าชดเชย” ไว้ว่า เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง สำหรับเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามเมื่อเลิกจ้างนั้น ตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 5 ระบุว่าการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานเมื่อออกจากงานตามข้อ 7 ให้จ่ายจากกองทุนบำเหน็จ และตามข้อ 7พนักงานที่ออกจากงานจะได้รับเงินบำเหน็จจะต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเห็นได้ว่า การจ่ายเงินบำเหน็จมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาข้อ 46 จึงถือไม่ได้ว่าที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 8ที่ระบุให้พนักงานที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียวโดยถือว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย ไม่มีผลบังคับศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 12 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามสำนวนข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.3 ว่า จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามครบถ้วนแล้ว โดยเฉพาะโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 8มีอายุการทำงานเพียง 14 ปี และโจทก์ที่ 3 มีอายุการทำงานเพียง15 ปี โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 มิได้มีอายุการทำงาน 16 ปีและโจทก์ที่ 8 มิได้มีอายุการทำงาน 15 ปี ตามฟ้อง เพราะตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523 ข้อ 4 ระบุว่า บุคคลที่องค์การจะจ้างหรือบรรจุเป็นพนักงานตามอัตรากำลังขององค์การจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518ได้กำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ดังนั้น จึงต้องเริ่มนับอายุการทำงานเมื่อพนักงานผู้นั้นมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ใช้ในการคำนวณเงินบำเหน็จ ข้อ 3.5 กำหนดว่าอายุการทำงาน หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานในองค์การทอผ้า และได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจนถึงวันพ้นตำแหน่ง… มีความหมายชัดแจ้งว่าการนับอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำในองค์การทอผ้าโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และเอกสารหมาย ล.3 ตามลำดับ และโจทก์ที่ 8 เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2518 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.8โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 ต่างได้รับค่าจ้างนับแต่เข้าทำงานจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2533 โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงมีอายุการทำงาน 15 ปี 8 เดือน โจทก์ที่ 8 มีอายุการทำงาน 15 ปี 2 เดือน ซึ่งเมื่อนับอายุการทำงานตามข้อบังคับของจำเลย โดยหากมีเศษเกินกว่า 6 เดือน ให้นับเป็น1 ปี และหากมีเศษไม่ถึง 6 เดือนให้ปัดทิ้งแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 3 มีอายุการทำงาน 16 ปี โจทก์ที่ 8 มีอายุการทำงาน 15 ปีที่ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523 ข้อ 4ระบุว่า บุคคลที่องค์การจะจ้างหรือบรรจุเป็นพนักงานตามอัตรากำลังขององค์การต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518ที่กำหนดว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นั้น เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของพนักงานของจำเลยเท่านั้น หาใช่วิธีการนับอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 มีอายุการทำงานตามฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่เกี่ยวกับโจทก์นอกนั้นว่าจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้ครบถ้วนนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง โดยยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงโดยแจ้งชัดในอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.4 ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 มิได้บอกกล่าวให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยก่อนฟ้อง จำเลยไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดและโจทก์ดังกล่าวได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ซึ่งให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว จำเลยเข้าใจว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยไม่มีเจตนาผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยค่าชดเชย เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 และจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยจึงต้องเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง และต้องเสียดอกเบี้ยตามกฎหมาย ข้ออ้างว่าจำเลยไม่มีเจตนาผิดนัดไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นความรับผิดได้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.