แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะเป็นการยกให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ซึ่งผู้ให้ จะถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่า จำเลยที่ 3 ได้รับการยกให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 3 มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้อง เสียเปรียบ เพียงแต่จำเลยที่ 2 ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว ศาลก็เพิกถอนการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3เป็นบุตร จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 11884ตำบลบางกรวย (บ้านลุ่ม) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรีเนื้อที่ 68 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 29/15 ราคาไม่ต่ำกว่า300,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2526 จำเลยที่ 12 กู้เงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดเลขที่ 10830ตำบลบางพลัด อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี จำนองเป็นประกันต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์อีก100,000 บาท โดยเอาโฉนดเดิมจดทะเบียนจำนองเพิ่มจำนวนเงินต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2526 โจทก์ทราบว่าโฉนดเลขที่ 10830เป็นโฉนดปลอม โดยจำเลยที่ 1 ได้เอาโฉนดที่ดินสาธารณประโยชน์มาแก้ไขดัดแปลง ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้จดทะเบียนหย่าที่สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองชัยภูมิจังหวัดชัยภูมิ โดยมีเจตนาจะโอนสินสมรสให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้บันทึกไว้หลังทะเบียนหย่าว่า จำเลยที่ 1ขอยกที่ดินโฉนดเลขที่ 11884 ส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และบุตร ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์จะฟ้องเรียกเงินกู้จำนวน 300,000 บาท คืนจากจำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขดำที่ 9408/2526 โจทก์ชนะคดีไม่สามารถยึดที่ดินและบ้านดังกล่าวมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ขอให้จำเลยทั้งสามโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11884ตำบลบางกรวย (บ้านลุ่ม) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรีพร้อมบ้านเลขที่ 29/15 กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามเดิมถ้าไม่สามารถจะโอนได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่า จำเลยที่ 1กู้เงินจากโจทก์ และนำที่ดินมาจำนอง จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินจำนวนมากเช่นนั้นมาใช้จ่ายในครอบครัว จำเลยที่ 1 ประพฤติตนไม่ชอบและทำผิดทัณฑ์บนที่ทำกันไว้กับจำเลยที่ 2 ทั้งถูกทางราชการสอบสวนเอาผิดทางวินัยและหลบหนีออกจากบ้าน จำเลยที่ 2 ติดตามไปพบและตกลงหย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2526 โดยมีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับบุตรและทรัพย์สินไว้ท้ายฟ้องโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2ต้องปฏิบัติ นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังต้องรับภาระจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และไถ่ถอนจำนองจากธนาคารอาคารสงเคราะห์อีกเป็นเงิน 109,651.95 บาทตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 510/2525 ของศาลชั้นต้นระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์ จำเลยที่ 2 กับพวก จำเลยจึงต้องถือว่าการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอน จำเลยที่ 2 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 3 ตามข้อตกลงในการหย่า มิได้โอนไปเพื่อให้พ้นจากเจ้าหนี้และได้โอนก่อนที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาล
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายบุญยืน คำเอี่ยม ผู้รับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 11884 พร้อมบ้านเลขที่ 29/15 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า รับซื้อที่ดินและบ้านจากจำเลยที่ 3โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเป็นเงิน250,000 บาท ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ จำเลยร่วมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 ได้เช่าที่ดินและบ้านที่ขายฝากจากจำเลยร่วมในอัตราค่าเช่าเดือนละ 7,500 บาทแต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่สามารถชำระค่าเช่าได้จึงได้สละสิทธิการไถ่ทรัพย์สิน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11884ตำบลบางกรวย (บ้านลุ่ม) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรีพร้อมบ้านเลขที่ 29/15 กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามสภาพเดิมถ้าไม่สามารถจะโอนได้ ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้ไปตรวจสอบโฉนดเลขที่ 10830 ซึ่งจำเลยที่ 1จำนองไว้ปรากฏว่าเป็นโฉนดปลอม จำเลยที่ 2 ย่อมรู้ว่าจำเลยที่ 1จะต้องถูกโจทก์ฟ้อง ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้วจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 11884 อันเป็นสินสมรสให้จำเลยที่ 3 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ก่อหนี้จึงเป็นทางทำให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าการยกให้ดังกล่าวมิใช่ยกให้โดยเสน่หาแต่เป็นการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการหย่านั้นเห็นว่า แม้จะยกให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ซึ่งผู้ให้จะถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ก็ตามแต่ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับการยกให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 3 มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ เพียงแต่จำเลยที่ 2ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวศาลก็เพิกถอนการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยร่วมได้จดทะเบียนรับซื้อฝากโดยสุจริตนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วไม่เชื่อว่ามีการขายฝากกันจริง การจดทะเบียนขายฝากระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมมิได้กระทำโดยสุจริต จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238
พิพากษายืน