คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 488/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อบริษัทโจทก์สร้างภาพยนต์ เสร็จแล้ว โจทก์สามารถนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายหาผลประโยชน์ได้ทั่วประเทศ แม้ฟิล์มภาพยนต์ ที่โจทก์ฉายหารายได้แล้วครั้งแรกหรือที่เรียกว่ากากหนัง จะมีค่าหรือราคาลดน้อยลงไป แต่ภาพยนต์ หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นยังคงเป็นทรัพย์สินและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ โจทก์ยังสามารถนำออกฉายหาผลประโยชน์ให้โจทก์หรือขายขาดให้บุคคลอื่นต่อไปได้อีก มิได้เสื่อมค่าหมดไป จะเปรียบเทียบกับการผลิตสินค้าทั่วไปและถือว่าภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์เป็นสินค้าของโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาก็เพื่อนำออกฉายหารายได้จากผู้เข้าชมซึ่งมาหาความบันเทิงผู้ชมภาพยนตร์เพียงแต่ได้ชมภาพและฟังเสียงของภาพยนตร์ชั่ว ระยะเวลาอันสั้นโดยเสียเงินค่าตอบแทน หาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่ประการใด กิจการของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะซื้อขายสินค้า ฉะนั้นรายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปเนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป. รัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์สร้างภาพยนตร์ไทยออกฉายหารายได้ เจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ไปชำระเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525- ปี 2527 รวมเป็นเงิน 10,100,125 บาทโดยอ้างว่าโจทก์นำต้นทุนการสร้างภาพยนตร์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(5) โจทก์จะต้องนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของต้นทุนการสร้างภาพยนตร์เพราะถือว่าภาพยนตร์นั้นเป็นทรัพย์สิน และโดยสภาพของทรัพย์สินย่อมสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 โจทก์เห็นว่า การประเมินของเจ้าพนักงานให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยอ้างเหตุดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงและสภาพของธุรกิจการค้า เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันได้แก่ค่าฟิล์ม ค่าจ้างนักแสดง ค่าล้าง ค่าอัดฟิล์ม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆที่ต้องใช้ในการสร้างจนกระทั่งสำเร็จออกมาเป็นภาพยนตร์สามารถนำออกฉายหารายได้ และหลังจากที่ได้นำออกฉายแล้วฟิล์มภาพยนตร์นั้นจะมีสภาพเป็นกากหนัง ไม่มีมูลค่าไม่อาจนำออกฉายได้อีกต่อไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทกืได้จ่ายไปในการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักได้ทั้งหมดไม่เป็นการต้องห้ามตามที่เจ้าพนักงานประเมินกล่าวอ้าง โจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว แต่มีเหตุอันควรผ่อนผันและให้ลดเบี้ยปรับ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงต้องนำคดีมาฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ตามแบบ อ.1 ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 และโจทก์ได้ออกเช็คเป็นการชำระเงินค่าภาษี ครั้นเมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว และเจ้าพนักงานประเมินได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 19,23, 87 ตรี และ 123 แห่งประมวลรัษฎากรออกหมายเรียกไปยังโจทก์ให้มาพบและส่งสมุดบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบในการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 – ปี 2527 ต่อเจ้าพนักงานเพื่อทำการไต่สวนและตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ และจากการตรวจสอบปรากฏว่า ในการประกอบกิจการของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวข้างต้น โจทก์ได้สร้างภาพยนตร์และนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และได้รับส่วนแบ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการโฆษณา และอากรมหรสพแล้วในอัตราร้อยละ50 หลังจากที่ได้ฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ แล้ว แม้ฟิล์มนั้นจะเป็นกากหนังโจทก์ก็ยังสามารถนำออกาหรายได้ได้อีก โดยการนำออกฉายหรือให้เช่า โจทก์มิได้สร้างภาพยนตร์เพื่อขาย ฟิล์มภาพยนตร์ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงต้องถือว่าฟิล์มนั้นเป็นทรัพย์สินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ใช้เพื่อการนั้นจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินตามมาตรา 65 ตรี (5) โจทก์สามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินอันได้แก่ต้นทุนในการสร้างภาพยนตร์ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไปจนกว่าจะหมด ตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมาลรัษฎากรว่าด้วยค่าสึกหรอ เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินปรับปรุงและให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยอาศัยหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวแล้วแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ ตามหนังสือแจ้งการประเมินที่1049/2/03243-5 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 รวม 3 ฉบับ โจทก์ได้รับแล้ว และได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินตามเอกสารดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “การประกอบธุรกิจสร้างภาพยนตร์…กว่าที่จะนำภาพยนตร์ออกฉายเพื่อให้มีรายได้เข้ามานั้นมีรายจ่ายหลายขั้นตอนและจำนวนมิใช่น้อย… เริ่มตั้งแต่ค่าบทประพันธ์ ค่าตัวนักแสดงค่าใช้จ่ายในการสร้าง ค่าฟิล์มและรูปค่าล้างฟิล์มและอัดก๊อปปี้ ค่าอาหารและที่พักนักแสดง ค่าเครื่องแต่งตัวนักแสดง ค่าบันทึกเสียงและค่าพากย์ ค่าใช้จ่ายในการสร้างรวมทั้งค่าภาษีศุลกากร… ปัญหาคงมีว่า ภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างขึ้นมานี้เป็นทรัพย์สินและสินค้าของโจทก์หรือไม่ และรายจ่ายในการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)หรือไม่
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดย ที่ประชุมใหญ่ ว่า เมื่อโจทก์สร้างภาพยนตร์เสร็จแล้ว โจทก์ก็สามารถนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายหาผลประโยชน์ได้ทั่วประเทศแม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ฉายหารายได้แล้วครั้งแรกหรือที่เรียกว่ากากหนัง จะมีค่าหรือราคาลดน้อยลงไป แต่ภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นยังคงเป็นทรัพย์สินและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เพราะโจทก์ยังสามารถนำออกฉายหาผลประโยชน์ให้โจทก์หรือขายขาดให้บุคคลอื่นต่อไปได้อีก หาได้เสื่อมค่าหมดไป ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่โจทก์จะนำภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์ไปเปรียบเทียบกับการผลิตสินค้าทั่วไปและถือว่าภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์เป็นสินค้าของโจทก์ด้วยไม่ได้เพราะวัตถุประสงค์ที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาก็เพื่อนำออกฉายหารายได้จากผู้เข้าชมซึ่งมาหาความบันเทิง ผู้ชมภาพยนตร์เพียงแต่ได้ชมภาพและฟังเสียงของภาพยนตร์ชั่วระยะเวลาอันสั้นโดยเสียเงินค่าตอบแทน หาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่ประการใด โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นอยู่เช่นเดิมกิจการของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะซื้อขายสินค้า ฉะนั้นรายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปเนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5)…”
พิพากษายืน.

Share