แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์นำกรมธรรม์ประกันภัยมาสืบประกอบพยานอื่นในข้อรับช่วงสิทธิ โดยมิได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ก็รับฟังได้
จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม แม้รถยนต์ของโจทก์จะเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ใช้รับจ้างบรรทุกสินค้าของผู้อื่น ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ เพราะการที่โจทก์นำรถยนต์ไปรับจ้างโดยผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการกระทำละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุก ๑๐ ล้อ หมายเลขทะเบียน น.ม.๒๔๑๑๕ ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ ๒ โดยโจทก์ที่ ๑ และบริษัทชานนท์มอเตอร์ จำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน ล.บ.๑๗๕๐๓ และ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ไว้ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ไปตามถนนมิตรภาพ จากอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไปทางจังหวัดสระบุรี ครั้นมาถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๑๓ – ๑๑๔ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี จำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตกถนนลื่น ทำให้รถแฉลบล้ำเส้นกึ่งกลางถนนอย่างกะทันหันและกระชั้นชิด เข้าไปในช่องทางวิ่งของรถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งนายคำมูล เกียรตินุกูล ขับขี่สวนทางมาจำเลยที่ ๑ หักรถกลับเข้าเส้นทาง แต่ไม่พ้น เป็นเหตุให้ท้ายรถปาดปะทะด้านขวาของรถ โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ที่ ๒ ซ่อมรถของโจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๓,๕๐๐ บาท และค่าลากรถ ๖๐๐ บาท รวม ๓๔,๑๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ เสียเวลาซ่อมแซมรถ ๗๘ วัน ขาดรายได้จากการใช้รถวันละ๑,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๗๘,๐๐๐ บาท รถเสื่อมราคา ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าลากรถ ๖๐๐ บาท จ่ายให้โจทก์ที่ ๒ ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุตามสัญญาประกันภัย ๑,๐๐๐ บาทรวมค่าเสียหายโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๙๙,๖๐๐ บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๓๓,๗๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.บ.๒๔๑๑๕ ไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดชานนท์มอเตอร์ โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างและไม่ได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลย ที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถด้วยความประมาท รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายเฉพาะบังโคลนด้านหน้าแถบขวา ซ่อมแซมเพียงเล็กน้อยใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ วัน โจทก์ที่ ๑ นำรถหาประโยชน์ มีรายได้ไม่เกินวันละ ๑๐๐ บาท ค่าลากรถเรียกซ่อมกับโจทก์ที่๑ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๒ และเพิ่มเติมว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่ารถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ได้รับความเสียหายอย่างใด การใช้รถของโจทก์ที่ ๑ ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ ๓ รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ล.บ.๑๗๕๐๓ จากบุคคลอื่น มิใช่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ นำรถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่า ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดชดใช้ให้บุคคลภายนอกไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท และ ๓๔,๑๐๐บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่ากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๓ ระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่๒ มิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัย โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าประเด็นที่ต้องพิจารณามีเพียงว่า โจทก์ที่ ๒ รับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ ๑ หรือไม่ เมื่อโจทก์ที่ ๒ นำสืบพยานบุคคลฟังได้ว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้เอาประกันภัย โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ม.๒๔๑๑๕ การนำสืบเอกสารหมาย จ.๓ มิได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัย เพียงแต่เป็นพยานประกอบพยานอื่นว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ ๑ เท่านั้นโจทก์ที่ ๒ จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่ารถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ใช้รับจ้างบรรทุกสินค้าของผู้อื่น โจทก์ที่ ๑ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าตนขาดประโยชน์จากการใช้รถ เพราะผลประโยชน์ดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของฝ่ายจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ระหว่างซ่อมแล้ว การที่โจทก์ที่ ๑ จะนำรถยนต์ดังกล่าวไปรับจ้างโดยผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการทำละเมิด ไม่ทำให้จำเลยที่ ๓ พ้นจากความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์
พิพากษายืน.