แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การพิจารณาคดีล้มละลายผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2463 ว่าคดีมีเหตุควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ฉะนั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาคดีจะไม่มีประเด็นโต้เถียงโดยตรงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 90,000บาท จริงหรือไม่ ศาลก็มีอำนาจพิจารณาไปถึงประเด็นดังกล่าวได้เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินกู้โจทก์เพียง8,000 บาท จึงไม่เข้าองค์ประกอบที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 9(2) ที่แก้ไขแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยทั้งสองให้การว่ามิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ความจริงจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 8,000 บาทศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า มีเหตุควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานจำเลยที่มีจำเลยทั้งสองมาเบิกความว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน มีอาชีพรับราชการครู มีรายได้รวมกันเป็นเงินเดือน ๆ ละ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์ 8,000 บาท และรับเงินกู้มาจากโจทก์เพียง 8,000 บาท แต่ยอมทำสัญญากู้โดยระบุจำนวนเงินกู้ถึง 90,000 บาทเพราะจำเป็นต้องใช้เงินและหากไม่ยอมทำสัญญาดังกล่าว โจทก์ก็จะไม่ยอมให้กู้นั้น มีน้ำหนักอันควรรับฟังยิ่งกว่าพยานโจทก์มาก เพราะพยานโจทก์ซึ่งมีแต่โจทก์ปากเดียวมาเบิกความประกอบสัญญากู้และค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 นั้นขัดต่อเหตุผล โจทก์เบิกความว่า โจทก์มีอาชีพแม่บ้าน สามีโจทก์เป็นข้าราชการบำนาญได้รับเงินบำนาญเดือนละ 5,000 บาทเศษ มีบุตรอยู่วัยศึกษาเล่าเรียนถึง 3 คนไม่ปรากฏว่า โจทก์มีรายได้ทางอื่น จึงไม่น่าเชื่อว่ามีเงินสดที่เก็บสะสมไว้ที่บ้านมาให้จำเลยที่ 1กู้ถึง 90,000 บาท และไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยอมให้จำเลยที่ 1กู้เงินถึง 90,000 บาท โดยไม่มีหลักทรัพย์ใด ๆ ค้ำประกัน โดยรู้อยู่ว่าจำเลยทั้งสองมีรายได้จากเงินเดือนรวมกันเพียงเดือนละประมาณ5,000 บาทเศษ คงเชื่อได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้โจทก์เพียง 8,000 บาท ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 9(2) พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2526มาตรา 3 การพิจารณาคดีล้มละลายผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ว่าคดีมีเหตุที่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ฉะนั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์ฎีกา คดีนี้จะไม่มีประเด็นโต้เถียงกันโดยตรงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 90,000 บาทจริงหรือไม่ ศาลก็มีอำนาจพิจารณาไปถึงประเด็นดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 500 บาท”