คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาคำร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 41,121,124 ต้องปรับด้วยมาตรา 43 มิใช่มาตรา 28ซึ่งเป็นการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานพระราชบัญญัติ ญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 43 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารสำหรับการปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดตาม มาตรา41 แต่มาตราทั้งสองก็หาได้บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ มาตามมาตรา 43 ถือเป็นยุติไม่และเมื่อผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหานำคดีไปสู่ศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคท้ายแล้วคู่ความย่อมนำสืบข้อเท็จจริงได้ทุกอย่างทุกประการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีตามความต้องการ ของพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 44,45 การสืบพยานในคดีแรงงานมีข้อแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญโดยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 45 วรรคสองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน การที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงทั้งหลายในคดีได้ ย่อมถือได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตแล้ว แม้ว่าโจทก์จะมิได้นำสืบข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ก็นำสืบข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาต่อศาลได้ และจำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่า โจทก์กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่เพื่อบีบบังคับให้ออกจากงานเนื่องจากลูกจ้างทั้งเก้าคนเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน จำเลยได้พิจารณาคำร้องของลูกจ้างไปฝ่ายเดียว เพราะโจทก์ไม่อาจไปให้ถ้อยคำได้เนื่องจากภารกิจต้องนำสินค้าไปต่างประเทศจำเลยให้โจทก์รับลูกจ้างที่ยื่นคำร้องกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะโจทก์มิได้กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้าง เหตุเลิกจ้างเป็นเพราะลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนคำสั่งทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่า กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ขัดขืนไม่ยอมไปพบและไม่ให้ความร่วมมือ จำเลยมีคำสั่งโดยอาศัยถ้อยคำและเอกสารจากนายบุญนาคผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการโจทก์ หาได้รับฟังข้อเท็จจริงจากลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องไม่ คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์เป็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิเคราะห์แล้วอุทธรณ์ข้อนี้จำเลยทั้งสิบสี่เพียงคัดย่อคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางแสดงไว้ในอุทธรณ์ครั้นแล้วก็คัดย่อคำฟ้องของโจทก์แสดงไว้ในอุทธรณ์จากนั้นจึงอุทธรณ์ว่า “จะเห็นได้ว่าการที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกวินิจฉัยนั้นจึงยังคลาดเคลื่อนต่อคำฟ้องของโจทก์ และจำเลยทั้งสิบสี่คนก็ได้หลงข้อต่อสู้แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม”เห็นว่า อุทธรณ์ตามที่กล่าวข้างต้นนั้น จำเลยทั้งสิบสี่มิได้กล่าวให้แจ้งชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางนั้นคลาดเคลื่อนต่อคำฟ้องของโจทก์ตอนใด คลาดเคลื่อนอย่างใดที่ถูกอย่างใด จำเลยทั้งสิบสี่หลงข้อต่อสู้ตอนใด และหลงอย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสี่เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่แจ้งชัด เป็นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แม้ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ขึ้นมาก็ไม่เป็นการผูกพันศาลฎีกาที่จะต้องวินิจฉัย ดังนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ชั้นวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น โจทก์มิได้นำสืบข้อเท็จจริงต่อจำเลยทั้งสิบสี่ผู้เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อเมื่อโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาโจทก์หามีอำนาจนำสืบข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นไม่เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 28 เมื่อโจทก์นำสืบจำเลยไม่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 28 ซึ่งเป็นการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามที่จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์นั้น หาอาจจะนำมาปรับแก่คดีนี้ได้ไม่ เพราะบทมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เจตนารมณ์ของบทมาตราดังกล่าวเป็นประการใดขั้นตอนในการพิจารณาข้อพิพาทเป็นประการใด ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยสำหรับคดีนี้ คดีนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 41 มาตรา 121 และมาตรา 124 ดังจะเห็นได้จากคำสั่งที่ 17-18/2530 ของจำเลยทั้งสิบสี่ท้ายคำฟ้อง กรณีจึงต้องปรับด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 43อันว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นบทมาตราโดยเฉพาะแม้จำเลยทั้งสิบสี่อ้างบทมาตราคลาดเคลื่อนตามที่กล่าวมาแล้วก็ตามแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวเพื่อเป็นการปลดเปลื้องข้อสงสัยของจำเลยทั้งสิบสี่ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 43 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารสำหรับการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 41 แต่มาตรา 41 และมาตรา 43ก็หาได้บัญญัติว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาตามมาตรา 43 ถือเป็นยุติไม่เมื่อผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหานำคดีไปสู่ศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8วรรคท้ายแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าข้อเท็จจริงจะต้องถือตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คู่ความจะนำสืบนอกกว่านั้นไม่ได้ ความที่ว่ามาทั้งนั้น ไม่มีปรากฏในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ณ ที่ใดเลยไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ดังนั้น ผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหาผู้เป็นคู่ความจึงย่อมจะนำสืบข้อเท็จจริงได้ทุกอย่างทุกประการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามความต้องการของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 44 และมาตรา 45 อนึ่งการสืบพยานในคดีแรงงานก็แตกต่างกว่าคดีแพ่งสามัญดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 45 วรรคสอง ที่ว่าในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงทั้งหลายในคดีได้นั้น ย่อมถือได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตแล้ว เพราะศาลแรงงานกลางต้องการได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และเพื่อจะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาได้เพราะเป็นการนำสืบในประเด็นโดยตรงตามประเด็นข้อ 2 ที่ว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 17-18/2530 ลงวันที่ 3 เมษายน 2530 หรือไม่เพียงใด และจำเลยทั้งสิบสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไว้แล้วนั้น อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share