คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ฉ. เอารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปในครั้งเกิดเหตุแล้วไม่นำมาคืนภายในเวลาที่เคยยืมไปใช้ จำเลยที่ 1 ย่อมต้องสันนิษฐานได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย การกระทำของ ฉ. อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สมควรที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งความดำเนินคดีแก่ ฉ. โดยไม่ชักช้า แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิ่งแจ้งความหลังจากที่ ฉ. เอารถยนต์ไปใช้แล้วนานถึง 6 เดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียหายแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ชักช้า จำเลยที่ 3 จึงอ้างเป็นเหตุไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางทัศนีย์ เกิดพุ่ม เช่าซื้อรถยนต์นิสสันหมายเลขทะเบียนผ-3745 (ที่ถูก 5745) ราชบุรี ไปจากโจทก์ ต่อมานางทัศนีย์โอนสิทธิการเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อแทนในราคา 283,489.15 บาท โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวงเงินประกันภัย 260,000 บาท โดยกรมธรรม์ประกันภัยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์เป็นเงิน 326,012.51 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 283,489.15 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 299,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 260,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาประกันภัย กรณีรถยนต์สูญหาย จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้าและต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมายทันที แต่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบและแจ้งความร้องทุกข์เป็นระยะเวลาที่ล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายต่อจำเลยที่ 3 นอกจากนี้ภริยาของจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้จนเกิดความเสียหาย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากความเสียหายเกิดจากบุคคลในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 260,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 กรกฎาคม 2540)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 3ต่อโจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นิสสัน หมายเลขทะเบียน ผ-5745 ราชบุรี ไปจากโจทก์ในราคา 283,489.15 บาทตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน 40 งวด งวดละ 7,087.22 บาทเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 สิงหาคม 2538 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้แก่จำเลยที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2538 รถยนต์ที่เช่าซื้อพ้นไปจากความครอบครองของจำเลยที่ 1

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 3จะอ้างเหตุไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.6 หรือไม่ เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยเป็นเอกสาร ซึ่งผู้รับประกันภัยได้ทำขึ้นภายหลังที่ได้มีสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคสอง บัญญัติว่าให้ผู้รับประกันภัยส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญาประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยหนึ่งฉบับ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 โดยไม่มีข้อโต้แย้งว่าเงื่อนไขต่าง ๆในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ตรงกับสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงอ้างเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 หัวข้อสัญญาหมวดที่ 3 : การคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญหายต่อรถยนต์ ข้อ 3.5.4 ในกรณีที่รถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด…หัวข้อสัญญาหมวดที่ 1 : เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 1.6 การแจ้งความ : เมื่อมีการกระทำความผิดในทางอาญาโดยบุคคลใด ซึ่งทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์นี้ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ชักช้า และข้อ 1.9เงื่อนไขบังคับก่อน : บริษัทอาจจะไม่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นี้เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประกันภัยและเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อพ้นไปจากความครอบครองของจำเลยที่ 1ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเสาไห้ ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2538 เอกสารหมาย จ.12 ว่า “…ผู้แจ้งได้รับโทรศัพท์จากนางเฉลา เยาวรัตน์ แจ้งให้ทราบว่าได้มานำเอารถยนต์ปิกอัพคันดังกล่าวของผู้แจ้งไปเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. และบอกยืมเอาไปใช้ค้าขายเป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นผู้แจ้งจึงสำรวจพบว่ารถคันดังกล่าวของผู้แจ้งได้หายไปจากบริเวณที่จอดจริงและเชื่อว่านางเฉลาเป็นผู้นำรถคันดังกล่าวไปเนื่องจากเคยนำรถคันดังกล่าวไปใช้สอย ผู้แจ้งเกรงว่านางเฉลาจะนำรถคันดังกล่าวไปกระทำการในทางที่เสียหาย ผู้แจ้งซึ่งไม่รู้เห็นในการที่นางเฉลามานำเอารถไปจะได้รับความเดือดร้อน จึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” ขณะจำเลยที่ 1แจ้งความดังกล่าวยังไม่มีการกระทำความผิดในทางอาญาซึ่งทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย เพราะนางเฉลาแจ้งต่อจำเลยที่ 1ว่ายืมรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ และก่อนหน้านี้นางเฉลาก็เคยยืมไปใช้มาก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 เพียงแต่แจ้งความเป็นหลักฐานว่าจะไม่รับผิดชอบในการที่นางเฉลาอาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปกระทำการในทางที่เสียหายเท่านั้นจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2538 ก่อนที่นางเฉลามาเอารถยนต์ที่เช่าซื้อไปในครั้งเกิดเหตุเพียง 1 เดือน ที่นางเฉลาเคยยืมรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ก่อนครั้งเกิดเหตุ แสดงว่าเป็นการยืมไปใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 1 เดือน การที่นางเฉลาเอารถยนต์ที่เช่าซื้อไปในครั้งเกิดเหตุแล้วไม่นำมาคืนภายในระยะเวลาที่เคยยืมไปใช้จำเลยที่ 1 ย่อมต้องสันนิษฐานได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย การกระทำของนางเฉลาอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ สมควรที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่นางเฉลาโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยที่ 1 เพิ่งแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงวันที่ 9มกราคม 2539 เอกสารหมาย จ.13 ให้ดำเนินคดีแก่นางเฉลาในความผิดฐานลักทรัพย์ หลังจากที่นางเฉลาเอารถยนต์ที่เช่าซื้อไปในครั้งเกิดเหตุนานถึง 6 เดือน อาจเกิดผลเสียหายแก่จำเลยที่ 3 ได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.6 ที่ให้ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ชักช้า ซึ่งจำเลยที่ 3อ้างเป็นเหตุไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.9ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อที่เหลือเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share