คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 671/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปทำการค้าค้างดอกเบี้ย โจทก์จึงเอาดอกเบี้ยและต้นเงินรวมกันทำสัญญากู้ไว้ ดังนี้ เป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่นำมาสู่การทำสัญญากู้เงินเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามฟ้องจริง และได้มีการตกลงกันให้ถือว่าจำเลยได้รับเงินแล้วอย่างไร ดังนี้ ย่อมสืบได้หาเป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ทั้งโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องกล่าวอ้างตั้งประเด็นเรื่องที่นำสืบนั้นมาในฟ้องด้วย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และเป็นหนี้ก่อขึ้นระหว่างสมรส เป็นหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดใช้หนี้โจทก์ด้วยดังนี้ เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “เป็นหนี้ร่วม” ก็หมายถึงหนี้ดังระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482(1)(2)(3)(4)ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม ส่วนจะเป็นหนี้ร่วมชนิดใดนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบต่อไปในชั้นพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 11,500 บาท ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2503 จะชำระภายในวันที่ 25 กรกฎาคม2505 นำเช็คธนาคารศรีนคร เอ็น.5 เลขที่ 007669 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยผิดนัดไม่ชำระ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสเป็นหนี้ร่วม ขอให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงิน และดอกเบี้ยรวม14,695.92 บาท ฯลฯ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แม้จะเป็นการกู้ก็เป็นการกู้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ต้นเงิน 11,500 บาทกับดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 14,695.92 บาท ฯลฯ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ประเด็นที่ว่าที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปทำการค้าค้างดอกเบี้ย โจทก์เอาดอกเบี้ยและต้นเงินรวมกันทำสัญญากู้ไว้เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์นำสืบเช่นนั้นเป็นการสืบถึงมูลเหตุที่นำมาสู่การทำสัญญากู้เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามฟ้องจริงและได้มีการตกลงกันให้ถือว่าจำเลยได้รับเงินแล้วอย่างไร ดังนี้ ย่อมสืบได้และหาเป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ทั้งโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องกล่าวอ้างตั้งประเด็นเรื่องตามที่นำสืบมานั้นในฟ้องด้วย

ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า “จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และเป็นหนี้ก่อขึ้นระหว่างสมรสเป็นหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดใช้หนี้โจทก์ด้วย” ดังนี้ โจทก์มิได้ระบุข้อความประการใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เลยศาลฎีกาเห็นว่าเท่าที่โจทก์บรรยายฟ้องเรียกได้ว่าคำฟ้องของโจทก์แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “…..เป็นหนี้ร่วม….. ก็หมายถึงหนี้ดังต่อไปนี้คือใน (1)(2)(3)(4) แห่งมาตรา 1482 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เข้าใจได้ดี ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ไม่เคลือบคลุมส่วนจะเป็นหนี้ร่วมชนิดใดนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบต่อไปในชั้นพิจารณา

พิพากษายืน

Share