คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9346/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าออกจากงาน (เกษียณอายุ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนคือวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เสียไป

ย่อยาว

คดีทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 6556/2548 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึง 280 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย แต่คดีสำหรับโจทก์ที่ 235 ยุติไปแล้วตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองร้อยเจ็ดสิบเก้าสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าเคยเป็นพนักงานของจำเลย โดยออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ได้รับ – ระดับตำแหน่งงานก่อนออกจากงานปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน วันที่ 3 ธันวาคม 2547 จำเลยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานระดับ 1 – 11 (ผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป) ร้อยละ 8 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป จำเลยโดยกระทรวงพลังงานเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบตามที่เสนอ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป เช่นเดียวกัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าซึ่งมีสถานภาพเป็นพนักงานของจำเลยอยู่ในวันที่ 1 เมษายน 2547 อันเป็นวันที่การปรับขึ้นเงินเดือนมีผลบังคับใช้ ย่อมมีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 และการปรับเพิ่มค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุตามมติดังกล่าว โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนและค่าชดเชยส่วนที่เพิ่มขึ้นตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยจ่ายเงินให้พนักงาน (วันที่ 28 มิถุนายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ไม่มีคู่วามฝ่ายใดโต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องแห่งข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.12 และ ล.1 ถึง ล.20 ปรากฏตามบันทึกของจำเลยเอกสารหมาย ล.7 ว่าจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตนเอง จำเลยจึงต้องเสนอขอความเห็นชอบในการปรับเงินเดือนค่าจ้างจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในการประชุมครั้งที่ 7/2547 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 เอกสารหมาย ล.4 และ ล.8 เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือน และมีการประชุมร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับหน่วยงานของฝ่ายจำเลยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 ที่ประชุมได้พิจารณาว่าในการปรับเพิ่มเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 จะปรับให้เฉพาะผู้ที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน หรือปรับให้แก่ผู้ที่มีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 1 เมษายน 2547 ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะผู้ที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยได้เสนอเรื่องไปยังผู้ว่าการของจำเลยเพื่อนำเรื่องเสนอคณะกรรมการของจำเลยพิจารณาตามเอกสารหมาย ล.7 โดยเสนอหลักการตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 กล่าวคือปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะผู้ที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน และเสนอข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการของจำเลยอันประกอบด้วยตารางประมาณการค่าใช้จ่าย ตารางแสดงผลกระทบทางการเงิน ประมาณการผลการดำเนินงาน (งบการเงินก่อนปรับเงินเดือน และงบการเงินหลังปรับเงินเดือน) ประมาณการในการเพิ่มรายได้เสริมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการของจำเลยมีติในการประชุมครั้งที่ 16/2547 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ตามเอกสารหมาย ล.9 หรือ จ.3 ระบุว่า “โดยหลักการเห็นชอบด้วย” ซึ่งหมายความว่าคณะกรรมการของจำเลยเห็นชอบในหลักการที่จำเลยเสนอ อันรวมถึงปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนด้วย การที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าจ้าง แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ส่งสำเนาข้อเรียกร้องให้นายทะเบียนทราบ ไม่มีการระบุชื่อผู้มีอำนาจทำการแทนเป็นผู้แทนในการเจรจาของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจำเลยไม่ได้แจ้งชื่อผู้แทนในการเจรจาแก่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งเมื่อตกลงกันได้ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.6 ก็ไม่ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้แทนในการเจรจาทั้งสองฝ่ายแล้วประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงาน อันเป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 26, 26 และ 27 คงมีแต่รายงานการประชุมตามเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งลงชื่อผู้จดรายงานเพียงผู้เดียว การประชุมระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับจำเลยเป็นเพียงการตกลงร่วมกันเพื่อให้จำเลยพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนโดยให้มีผลเป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 6 และ 28 เมื่อคณะกรรมการของจำเลยเห็นชอบด้วยในการปรับเพิ่มเงินเดือน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเห็นสมควรปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ตามมาตรา 13 (2) จำเลยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานได้ตามมาตรา 13 วรรคสาม เมื่อจำเลยเสนอเรื่องขอปรับเพิ่มเงินเดือนไปยังคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามเอกสารหมาย ล.10 หรือ จ.4 จำเลยส่งรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.9 หรือ จ.3 ไปให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ในการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามรายงานการประชุมครั้งที่ 10/2547 วันที่ 29 ธันวาคม 2547 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้นำข้อมูลจากตารางประมาณการค่าใช้จ่าย ตารางแสดงผลกระทบทางการเงิน ประมาณการผลการดำเนินงาน (งบการเงินก่อนปรับเงินเดือนและงบการเงินหลังปรับเงินเดือน) ประมาณการในการเพิ่มรายได้เสริมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเอกสารหมาย ล.7 มาใช้ในการพิจารณา และใช้จำนวนพนักงานที่เป็นเกณฑ์คำนวณหาจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มเงินเดือนที่ 26,038 คน ดังนั้น การที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานระดับ 1 – 11 (ต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายลงมา) ร้อยละ 15 พนักงานระดับ 12 – 14 (ผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป) ร้อยละ 8 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย ล.12 หรือ จ.5 จึงเป็นการพิจารณามีมติโดยใช้ข้อมูลเดียวกับการพิจารณาของคณะกรรมการของจำเลย และอยู่ภายใต้หลักการปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน เมื่อจำเลยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนไปยังคณะรัฐมนตรีผ่านทางกระทรวงพลังงานตามเอกสารหมาย ล.14 หรือ จ.6 กระทรวงพลังงานได้ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปด้วย ซึ่งประกอบด้วยเอกสารหมาย ล.9 และ ล.12 หรือ จ.3 และ จ.5 จึงเป็นการขอปรับเพิ่มเงินเดือนที่ใช้ข้อมูลในการพิจารณาเดียวกับคณะกรรมการของจำเลยและคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และอยู่ภายใต้หลักการปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือนที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอจึงเป็นการเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนภายใต้หลักการปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป ตามที่จำเลยเสนอขอเช่นเดียวกันซึ่งเหตุผลในการขอปรับเพิ่มเงินเดือนได้มีระบุในเอกสารหมาย ล.9 และ ล.12 หรือ จ.3 และ จ.5 ว่าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของพนักงานและเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น ทั้งระบุในเอกสารหมาย ล.12 หรือ จ.5 ว่าเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงาน และสร้างแรงจูงใจในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูงไว้ในองค์กรเพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อันเป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยในวันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน เพราะผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยแล้วย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้นได้ ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะที่จำเลยจะจูงใจให้อยู่ในองค์กรเพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ประกอบกับข้อมูลที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการของจำเลย คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย ล.7 ล.12 และ ล.15 หรือ จ.5 และ จ.7 จำเลยต้องมีตารางประมาณการในการเพิ่มรายได้เสริมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (เนื่องจากการปรับเพิ่มเงินเดือน โดยใช้ตารางเดียวกันในการพิจารณาทั้งสามกรณี และตามหนังสือเอกสารหมาย ล.14 หรือ จ.6 ที่จำเลยมีถึงปลัดกระทรวงพลังงานขอให้นำเสนอการขอปรับเพิ่มเงินเดือนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีระบุว่าอัตราการเพิ่มเงินเดือนควรสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้เพิ่ม และหนังสือของกระทรวงพลังงานถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามเอกสารหมาย ล.15 หรือ จ.7 นอกจากกระทรวงพลังงานจะเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว ยังเสนอให้จำเลยดำเนินการตามมาตรการรองรับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้นโดยการหารายได้เสริมจากการทำงานให้แก่บุคคลภายนอกให้ได้ตามเป้าหมาย แสดงว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนนั้นพนักงานต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่จำเลยด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อทำรายได้เพิ่มให้แก่จำเลยให้คุ้มค่าเงินเดือนที่ปรับเพิ่มขึ้น การปรับเพิ่มเงินเดือนไม่ใช่เป็นการให้เปล่าที่ไม่ต้องทำงานเพิ่มตอบแทนแก่จำเลย การพิจารณาว่ามติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรีในการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยครอบคลุมถึงพนักงานกลุ่มใดนั้นต้องพิจารณาจากฐานการคิด เหตุผล และข้อมูลที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวทางเดียวกันมาแต่ต้นว่าให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน ส่วนการที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบตามเอกสารหมาย ล.12 และ ล.17 หรือ จ.5 และ จ.8 ให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานระดับ 1 – 11 (ผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป) ร้อยละ 8 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นการให้ความเห็นชอบในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตามมาตรา 13 วรรคสาม กล่าวคือเป็นการให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ว่าให้จำเลยปรับเพิ่มค่าจ้างได้ในอัตราร้อยละ 15 หรือร้อยละ 8 ตามระดับของพนักงานโดยมีเงื่อนไขว่าให้ปรับเพิ่มค่าจ้างย้อนหลังไปได้ถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “สภาพการจ้าง” ตามมาตรา 6 ซึ่งมาตรา 13 วรรคสาม ไม่ได้บัญญัติถึงว่าสภาพการจ้างที่ปรับปรุงแล้วนั้นมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างคนใด โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าออกจากงาน (เกษียณอายุ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือนตามเอกสารหมาย ล.19 จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนคือวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ตามเอกสารหมาย ล.19 เสียไป อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share