คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยเวลา 9 นาฬิกา แต่เลื่อนมาสอบในเวลา 13.30 นาฬิกา แม้ไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นก็ดำเนินกระบวนพิจารณาในเวลา 13.30 นาฬิกา ต่อหน้าจำเลยโดยได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ แล้วจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ ถือได้ว่าได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 โดยชอบแล้ว ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ซึ่งมิใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งฉะนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่เวลา 13.30 นาฬิกา แม้ทนายจำเลยที่จำเลยเตรียมไว้ได้เดินทางกลับไปเสียก่อนก็ตาม ก็หามีผลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่
แม้จำเลยจะยื่นคำให้การต่อศาลไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการรับสารภาพฐานรับของโจร ฉบับหลังเป็นการปฏิเสธก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้วศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง แล้วจดคำให้การจำเลยไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง ฉะนั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จึงถือว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรชัดแจ้งแล้ว แม้ศาลจะไม่ได้สอบคำให้การของจำเลยฉบับหลัง ก็หาใช่กรณีที่ไม่แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธแต่อย่างใด
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรคดีนี้กับคดีอื่นรวม 12 คดี อันเป็นการฟ้องว่ากระทำผิดต่างกรรมต่างวาระแยกออกจากกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำผิดแต่ละคดีต่างกรรมต่างวาระกัน การที่จำเลยถูกจับกุมในวันเดียวกันทุกคดีจะฟังว่ากระทำผิดฐานรับของโจรเพียงครั้งเดียวคราวเดียวในวันที่ถูกจับกุมหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายบุกรุกเข้าไปในห้องพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายจักรพันธ์ ชัยบุญเรือง ผู้เสียหาย แล้วลักนาฬิกาข้อมือจำนวน 2 เรือน รวมราคา17,000 บาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ในคดีอื่นพร้อมกับยึดนาฬิกาข้อมือจำนวน 2 เรือนของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวเป็นของกลางทั้งนี้ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือภายหลังที่ทรัพย์ถูกคนร้ายลักไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรับเอานาฬิกาข้อมือจำนวน 2 เรือนของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แล้วจำเลยได้ช่วยพาเอาไปเสียและช่วยจำหน่ายซึ่งทรัพย์ดังกล่าว ของกลางผู้เสียหายรับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357 ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4731/2543, 4973/2543, 4974/2543, 1388/2544 ถึง 1391/2544และ 1393/2544 ถึง 1395/2544 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4731/2543, 4973/2543, 4974/2543, 1388/2544, 1389/2544, 1390/2544 และ 1391/2544 (ที่ถูกนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1617/2544, 1620/2544, 1619/2544, 1638/2544, 1639/2544, 1640/2544 และ 1641/2544) ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1393/2544 ถึง 1396/2544 นั้น ไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ เพราะศาลพิพากษาคดีนี้ก่อน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า กระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 3 เมษายน 2544 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่3 เมษายน 2544 เวลา 9 นาฬิกา แต่ศาลชั้นต้นได้เลื่อนนัดสอบคำให้การจำเลยมาเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา โดยไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณาในช่วงเช้าและไม่แจ้งให้คู่ความทราบ ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการต่อสู้คดี เนื่องจากจำเลยนัดหมายทนายความไว้ในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายทนายจำเลยมีกิจธุระจึงเดินทางกลับ จำเลยจึงไม่ได้รับคำปรึกษาจากทนายจำเลย กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันดังกล่าวเวลา 9 นาฬิกา แต่ได้เลื่อนมาสอบคำให้การจำเลยในเวลา 13.30 นาฬิกา แม้ไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณาแต่ศาลชั้นต้นก็ดำเนินกระบวนพิจารณาในเวลา 13.30 นาฬิกา ต่อหน้าจำเลยโดยได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ แล้วจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ จึงถือว่าได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 โดยชอบแล้ว ทั้งปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ซึ่งมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13.30 นาฬิกา แม้ทนายจำเลยที่จำเลยอ้างว่าได้เตรียมไว้ได้เดินทางกลับไปเสียก่อนก็ตาม หามีผลทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2544 ที่ให้การรับสารภาพแต่ไม่ได้สอบคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ให้การปฏิเสธ ทำให้ไม่แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่าแม้จะปรากฏจากสำนวนว่าจำเลยยื่นคำให้การต่อศาลไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นคำให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ฉบับหลังเป็นคำให้การปฏิเสธก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว ศาลก็จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างแล้วจดคำให้การจำเลยไว้และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยฉบับแรกลงวันที่ 2 เมษายน2544 และบันทึกในคำให้การว่า “รับเป็นคำให้การจำเลยสำเนาให้โจทก์” ตลอดทั้งจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร” จึงถือว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้สอบคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 3เมษายน 2544 จำเลยก็จะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างว่าเป็นกรณีไม่แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธหาได้ไม่ และไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาในประการต่อไปว่า โจทก์ฟ้องจำเลยฐานความผิดเดียวกันรวม 12 คดีแต่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งการจับกุมเป็นวันเดียวกันทั้งหมดทุกคดี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรคดีหนึ่งแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดในคดีอื่นอีก การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยถึง 12 คดีและมีคำขอให้นับโทษต่อทุกคดี จึงไม่เป็นธรรมสำหรับจำเลยอย่างยิ่งนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรในคดีนี้กับคดีอื่นรวม 12 คดี จึงเป็นฟ้องในการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระแยกออกจากกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำความผิดแต่ละคดีต่างกรรมต่างวาระกัน การที่จำเลยถูกจับกุมในวันเดียวกันทุกคดี จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรเพียงครั้งเดียวในวันที่ถูกจับกุมดังที่จำเลยอ้างหาได้ไม่ ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นรายคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share