คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2400/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการพ.ศ. 2530 ข้อ 13 และข้อ 21 เป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอมีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินและได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดหนังสือสัญญากู้เงิน จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
จำเลยจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้โจทก์อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ตกเป็นโมฆะ แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินคืนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ดอกเบี้ยส่วนนี้ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อสัญญากู้เงินมิได้กำหนดชำระต้นเงินคืนไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ดังนั้นโจทก์จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยต่อเมื่อได้ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยชำระต้นเงินแล้วตาม 204 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าได้ทวงถามเมื่อใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสามร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับโดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงเดือนกรกฎาคม 2540แล้วไม่ชำระอีกเลย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 85,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน80,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ ความจริงโจทก์นำเงินมาลงหุ้นในกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา โดยได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในฐานะกรรมการของกองทุนผู้บริหารดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวทั้งโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,500 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 หรือไม่ คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาและจำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษอำเภอบันนังสตา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการกองทุนดังกล่าวได้กู้เงินและได้รับต้นเงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โจทก์ได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ตลอดมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2540 ต่อจากนั้นไม่ได้รับดอกเบี้ยอีกเลย คณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการพ.ศ. 2530 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 13 กำหนดให้การปฏิบัติงานภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และข้อ 21 ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ในนามและในฐานะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาก็ตาม แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามอีกหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่โจทก์เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี เนื่องจากจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระต้นเงินคืนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ดอกเบี้ยส่วนนี้ไม่ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 มิได้กำหนดวันชำระต้นเงินคืนโจทก์ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยต่อเมื่อได้ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสามชำระต้นเงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระต้นเงินเมื่อใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับตั้งแต่วันฟ้อง (15 กรกฎาคม 2541) เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 นั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (15 กรกฎาคม2541) เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share