คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อนำข้อตกลงในสัญญากู้ยืมที่ระบุว่า “ถ้าข้าพเจ้าล้มตายหรือหลบหายไปเสียข้าพเจ้ายอมให้เอาทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าขายทอดตลาดเงินต้นและดอกเบี้ยให้ท่านจนครบ” มาพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเลฯที่กำหนดว่า “ถ้าเอาเรือที่จำนองออกขายหรือขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระแก่ผู้รับจำนอง… เงินยังขาดอยู่เท่าใดให้ถือว่าเป็นหนี้สามัญซึ่งผู้รับจำนองอาจเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ แต่ถ้าผู้จำนองไม่ได้เป็นลูกหนี้จะเรียกร้องจากผู้จำนองไม่ได้” แล้ว เห็นชัดเจนได้ว่า เมื่อโจทก์ผู้รับจำนองนำเรือที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่จำเลยผู้จำนองยังคงต้องรับผิดเพียงแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหนี้สามัญไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็ได้การที่โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็มิได้หมายความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 5,700,000บาท โดยจำเลยจดทะเบียนจำนองเรือไทยชื่อแดงเจริญ รวมตลอดถึงอุปกรณ์และเครื่องมือในเรือดังกล่าวเป็นประกันไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมชำระในส่วนที่ขาดจนครบถ้วน ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน8,469,965.25 บาทพร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 5,700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จถ้าจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง เมื่อประมาณปี 2532 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 500,000 บาทโดยนำใบทะเบียนเรือชื่อแดงเจริญไปเป็นหลักประกัน โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนจำนองเรือโดยยังไม่ได้กรอกข้อความ โจทก์กลับกรอกจำนวนเงิน 5,700,000 บาทในสัญญากู้ยืมเงิน และจดทะเบียนจำนองเรือชื่อแดงเจริญเป็นประกันในวงเงินดังกล่าวสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม สัญญาจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 5,000,000 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันก่อนฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 20 พฤษภาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,700,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าหากบังคับจำนองโดยนำเรือที่จดทะเบียนจำนองไว้ออกขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 5 กำหนดไว้ว่า”ข้าพเจ้าล้มตายก็ดีหรือหลบหายไปเสียก็ดี ข้าพเจ้ายอมให้ท่านมีอำนาจเอาทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าขายทอดตลาดเอาเงินต้นและดอกเบี้ยของท่านจนครบ” และเมื่อพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2537มาตรา 19 กำหนดว่า “ถ้าเอาเรือที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่ผู้รับจำนอง…เงินยังขาดอยู่เท่าใดให้ถือเป็นหนี้สามัญซึ่งผู้รับจำนองอาจเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ แต่ถ้าผู้จำนองไม่ได้เป็นลูกหนี้จะเรียกร้องจากผู้จำนองไม่ได้” เห็นว่า เงื่อนไขตามสัญญาข้อ 5 แม้จำเลยจะตายหรือหลบหนีโจทก์ก็ยังมีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบนอกจากนั้นตามพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเลพ.ศ. 2537 เมื่อนำเรือออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่ ผู้จำนองยังต้องรับผิดอยู่ เพียงแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหนี้สามัญไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ กรณีของจำเลยในคดีนี้ จำเลยเป็นผู้จำนองเรือแก่โจทก์และเรือมีน้ำหนักเกินกว่าหกสิบตันครอสเข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้นเมื่อขายทอดตลาดเรือจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ยังมีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่น ๆของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบได้ ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับไม่ชอบเพราะจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้เมื่อผิดนัดก็ต้องรับผิดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็ได้ ซึ่งในคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วย อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share