คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปี จึงชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและความมุ่งหมายของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนที่ดิน ๒๓,๙๔๑,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๑ ต่อปี ในต้นเงิน ๗,๙๘๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นธรรมต่อโจทก์และสังคมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗,๙๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๑ ต่อปี นับแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ ๗๐,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาที่ดินของโจทก์จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี ๒๕๑๗ เป็นปี ๒๕๓๑ อันเป็นปีที่เริ่มดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายกำหนดให้คำนึงถึงราคาตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เห็นว่า แม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้จะเริ่มดำเนินการโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาว พ.ศ. ๒๕๑๗ และต่อมาที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก… พ.ศ. ๒๕๒๖ แต่ในเมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืน จนกระทั่งต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ออกมาใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทซึ่งยังค้างคาไม่เสร็จสิ้นอยู่นั้น หากมีการดำเนินการอย่างใดที่จะต้องกระทำต่อไปในเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั้งนี้ตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเท่าใด จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๖ ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประกอบกับสภาพและที่ตั้งของอสังริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งตามที่บัญญัติไว้รวม ๕ ข้อดังกล่าวนั้น สำหรับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ นั้น ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของการที่บัญญัติไว้เช่นนี้ได้ว่า ต้องการให้ทราบราคาที่ซื้อขายกันอยู่จริง ๆ ในท้องตลาดในเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดกับเวลาที่เริ่มดำเนินการเพื่อเวนคืน แล้วนำราคาดังกล่าวมาเป็นหลักในการพิจารณา เพราะราคาของที่ดินย่อมจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามสภาวะของท้องตลาดตลอดเวลา การนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ อันเป็นการเริ่มต้นในการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาคำนึงเป็นหลักประการแรก ย่อมจะทำให้สามารถกำหนดเงินค่าทดแทนได้โดยเหมาะสมและบังเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับกรณีของโจทก์นี้ จำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๓ แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องออกมาแล้วกว่า ๑๖ ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เห็นได้อยู่ในตัวว่าไม่สมควรจะนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ ซึ่งผ่านพ้นไปกว่า ๑๖ ปีมาคำนึง เพราะราคาที่ดินย่อมจะสูงขึ้นมากจากเวลาที่ผ่านไปกว่า ๑๖ ปี ดังกล่าว หากยังคงกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนโดยถือตามราคาในอดีตเมื่อกว่า ๑๖ ปีก่อน ย่อมจะต่ำมาก ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี ๒๕๑๗ มาเป็นปี ๒๕๓๑ ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๓ แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินประมาณ ๒ ปีนั้น ชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม นับว่าเหมาะสมแล้ว ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๕๗/๒๕๔๔ ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครไทยสมุทรธุรกิจ กับพวก โจทก์ กระทรวงคมนาคม กับพวก จำเลย…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖,๘๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share