คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4589/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เรือนจำกลางบางขวางแจ้งว่าจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ทราบเพื่อมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาใหม่ เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (ที่ถูกวรรคหนึ่งและวรรคสอง) , ๖๖ วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน ส่วนจำเลยที่ ๔ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คนละหนึ่งในสาม และลดโทษให้จำเลยที่ ๔ หนึ่งในสี่ คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คนละ ๓๓ ปี ๔ เดือน และจำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนด ๓๗ ปี ๖ เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๓ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษให้จำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๒๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า… อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เรือนจำกลางบางขวางมีหนังสือแจ้งว่าจำเลยที่ ๔ ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ แต่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ โดยแจ้งให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ทราบเพื่อหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและมีคำสั่งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๑) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๔ โดยมิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๔ ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๑)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คนละ ๒๗ ปี จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสาม จำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑๘ ปี จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๑๓ ปี ๖ เดือน และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.

Share