แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ค่าป่วยการรายเดือนและเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งที่จำเลยได้รับจากเทศบาลนคร ซึ่งให้เหมาจ่ายเป็นรายเดือน โดยคำนวณจากรายได้จริงตามงบประมาณทั่วไปที่เทศบาลจัดเก็บเองจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ และรายได้จากทรัพย์สินของเทศบาลของปีงบประมาณที่ผ่านมา มีลักษณะไม่คงที่อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามรายได้ เงินดังกล่าวมิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) แม้ตำแหน่งเทศมนตรีที่จำเลยดำรงอยู่จะถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง แต่เมื่อเงินค่าป่วยการรายเดือนและเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งมิได้อยู่ในความหมายหรือคำว่า “เงินเดือน”ของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมขอบังคับคดีแก่เงินดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 253,045.66 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด
ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ และได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นเทศมนตรีนครเชียงใหม่ มีสิทธิได้รับค่าป่วยการซึ่งมิใช่เงินเดือนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ทุกเดือน โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าป่วยการดังกล่าว โดยให้เทศบาลนครเชียงใหม่ส่งเงินอายัดมายังศาลชั้นต้น เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า เทศบาลเป็นทบวงการเมืองตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 7 วรรคสอง ตำแหน่งเทศมนตรีเป็นข้าราชการเมืองส่วนท้องถิ่น เงินค่าป่วยการที่โจทก์ขออายัดไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีไม่อาจอายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2)
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า เงินค่าป่วยการที่จำเลยที่ 1 ได้รับในตำแหน่งเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นั้น ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามมาตรา 286(2) ระบุไว้ชัดเจนว่า สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีในกรณีนี้ได้แก่ “เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล และเงินสงเคราะห์หรือบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น” เจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายที่จะให้ความคุ้มครองข้าราชการแห่งรัฐที่เลี้ยงชีพด้วยเงินเดือนอันเป็นรายได้ประจำเพียงอย่างเดียวที่แน่นอนตายตัว แต่เงินที่โจทก์ขออายัดในคดีนี้เป็นเงินค่าป่วยการรายเดือน และเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งที่จำเลยที่ 1ได้รับจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งให้เหมาจ่ายเป็นรายเดือน โดยคำนวณจากรายได้จริงตามงบประมาณทั่วไปที่เทศบาลจัดเก็บเองจากภาษีโรงเรือนและที่ดินภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับและรายได้จากทรัพย์สินของเทศบาลของปีงบประมาณที่ผ่านมา จึงมีลักษณะไม่คงที่อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามรายได้ของเทศบาลซึ่งต่างจากเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการประจำที่มีลักษณะคงที่แน่นอนไม่ผันแปรโดยง่าย ดังปรากฏตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. 2519 มาตรา 16 แก้ไขโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 มาตรา 3ประกอบด้วยบัญชีและหมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกา จึงเห็นได้โดยแจ้งชัดและเป็นที่เข้าใจได้ว่า เงินดังกล่าวมิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดตามที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) เหตุนี้แม้ตำแหน่งเทศมนตรีที่จำเลยที่ 1 ดำรงอยู่จะถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง แต่เมื่อเงินค่าป่วยการรายเดือนและเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งมิได้อยู่ในความหมายหรือคำว่า “เงินเดือน” ของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมขอบังคับคดีได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้อายัดเงินค่าป่วยการรายเดือนและค่าป่วยการประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ไปยังเทศบาลนครเชียงใหม่ให้ส่งเงินมายังศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์จนครบ