คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771-772/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ในข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ครั้นในระหว่างศาลไต่สวนคำร้อง มีพระราชบัญญัติการควบคุมตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2505 ประกาศใช้ ศษลย่อมมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียได้.
พระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติย้อนหลังให้ลงโทษบุคคลในทางอาญาและไม่ใช่เป็นการจัดตั้งศาลขึ้นใหม่ ไม่เป็นการตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งได้จำกัดไว้ว่าให้ใช้พระราชบัญญตินี้บังคับชั่วคราวเฉพาะในระหว่างที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรยังใช้อยู่ จึงไม่ขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 มาตรา 20.

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมผู้ร้องในข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และอื่น ๆ ผู้ร้องถูกควบคุมมาเป็ฯระยะเวลานานเกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีทั้งการสอบสวนก็เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นการควบคุมที่ขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๒ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๘๗ เป็นการควบคุมไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐
ศาลอาญาไต่สวนพยานของพนักงานสอบสวนเสร็จแล้ว อยู่ในระหว่างนักไต่สวนพยานของผู้ร้อง ก็มีพระราชบัญญัติการควบคุมตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๕๐๕ ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๕ เป็นต้นไป ศาลอาญาจึงสั่งงดไต่สวนพยานของผู้ร้อง และวินิจฉัยว่า กรณีของผู้ร้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๓ วรรค ๒ ซึ่งมิให้นำมาตรา ๙๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับตั้งแต่ ๑ กันยายน ๒๕๐๕ แม้คดีของผู้ร้องจะได้ร้องมาก่อนและดำเนินการอยู่ก็ตาม ก็ตกอยู่ในบังคับของมาตรา ๓ วรรค ๒ เช่นกัน เพราะตามมาตรา ๔ ให้นำมาตรา ๓ มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ฉะนั้น สิทธิของผู้ร้องที่ร้องของให้ปล่อยโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๙๐ จึงหมดสิ้นไป ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาพระราชบัญญัติการควบคุมตัวผู้ต้องหา ฯ คอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๓,๔ แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัตินี้ประสงค์ให้ผู้ใดที่ต้องหาว่ากระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งพนักงานสอบสวนควบคุมตัวไว้นั้น ถ้าเห็นว่าการที่ถูกควบคุมตัวไว้เป็ฯมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้มีสิทธิร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งปล่อยตัวได้ อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ไม่ใช่กฎหมายสารบัญญัติที่กำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติย้อนหลังให้ลงโทษบุคคลในทางอาญา และไม่ใช่เป็นการบัญญัติที่จัดตั้งศาลขึ้นใหม่ เป็นแต่เพียงวางวิธีการร้องขอให้ผู้ต้องหาปฏิบัติเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเท่านั้น หาเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพภายในขอบเขตของกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งมาตรา ๕ ก็จำกัดไว้ว่าให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับชั่วคราวเฉพาะในระหว่างที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรยังใช้อยู่ จึงไม่ขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๒๐ ดังที่ผู้ร้องฎีกา
พิพากษายืน.

Share