แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มีผู้ยกคันนาทั้ง 3 ด้านล้อมนาและป่าที่มีต้นสักขึ้นอยู่ไว้เพียงเท่านี้ ยังหาทำให้ผู้นั้นเป็นเจ้าของป่าและไม้สักได้ตามกฎหมายไม่ ฉะนั้นแม้ผู้นั้นจะขายที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้อื่น โดยมีเจ้าพนักงานไปรังวัดและไม่มีผู้คัดค้านก็ดีการซื้อขายนั้นก็ไม่ทำให้ผู้รับซื้อมีกรรมสิทธิในที่ป่าและต้นสักนั้น ฉะนั้นผู้ใดตัดต้นสักในที่นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ จึงย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
ฟ้องของโจทก์หาว่าจำเลยชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต อ้าง พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติถึงการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต้องมีใบอนุญาตเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วยและจำเลยก็เข้าใจข้อหาข้อนี้ดีแล้ว ถือว่าไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยตัดฟันไม้สัก ๗๒ ต้น อันเป็นไม้ที่ทางราชการทหารหวงห้ามจากป่าแม่คาวโตน และได้สมคบกันชักลากไม้จำนวนนี้จากป่ามาไว้ยังบ้านผู้มีชื่อ ทั้งนี้โดยจำเลยได้ตัดฟันและชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่า ตัดฟันไม้สัก ๗๒ ต้นในที่ดินของนายโต เป็นเจ้าของครอบครองถือกรรมสิทธิ
ศาลชั้นต้นเชื่อข้อเท็จจริงตามที่จำเลยต่อสู้ส่วนการชักลากไม้ โจทก์บรรยายมาเคลือบคลุมจึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยฐานชักลากไม้โดยมิได้รับอนุญาตอีกกะทงหนึ่ง ของกลางให้ริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าทางพิจารณาไม่ปรากฎว่านายซาวบิดานายแท้ได้ที่ดินรายนี้มาโดยสถานใด แม้จะฟังตามคำนายโตว่า นายซาวได้ยกคันนาทั้ง ๓ ด้านล้อมนาและป่าที่มีต้นสักขึ้นอยู่ไว้ การยกคันนาก็ไม่ทำให้นายซาวเป็นเจ้าของป่าและต้นสักได้ตามกฎหมาย และแม้นายแก้วจะได้ขายที่ดินทั้งหมดให้แก่นายโตโดยมีเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดและไม่มีผู้ใดคัดค้านก็ดี การซื้อขายทั้งนี้ก็ไม่ทำให้นายโตผู้ซื้อมีกรรมสิทธิในที่ป่าและต้นสักนั้น ฉะนั้นการที่จำเลยได้รับความยินยอมจากนายโตให้ตัดต้นสักดังกล่าว จึงไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดโจทก์ฟ้องว่าจำเลยชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต อ้าง พ.ร.บ. ป่าไม้ ๒๔๘๔ มาตรา ๓๙ ซึ่งบัญญัติถึงการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วย และจำเลยก็เข้าใจข้อหาข้อนี้ดีแล้ว ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
จึงพิพากษายืน