คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5950/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างที่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็คอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยได้ยื่นคำแถลงว่าตำรวจจับตัวช.ได้และพนักงานอัยการได้ฟ้องช. ต่อศาลอาญาในข้อหาปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารโจทก์จนหลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของจำเลย และยอมให้ ช. เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารโจทก์ในชื่อของจำเลย ศาลอาญาได้พิพากษาว่า ช. มีความผิดฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมแล้วปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอาญาท้ายคำแถลงของจำเลย ซึ่งทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำแถลงดังกล่าวของจำเลยแล้ว มิได้แถลงคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำแถลงดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลฎีกาก็รับฟังสำเนาคำพิพากษาของศาลอาญาดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวนหกฉบับซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งหกฉบับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 594,583,.21 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 563,740 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเปิดบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ ไม่เคยออกเช็ค และไม่เคยลงลายมือชื่อในเช็คตามฟ้อง เมื่อประมาณวันที่ 22 กรกฎาคม2526 จำเลยทราบว่าบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยได้สูญหายไปจึงได้ไปแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ต่อมาต้นปี 2527 จำเลยถูกทวงถามให้ชำระหนี้ตามเช็คของธนาคารดังกล่าวจำเลยจึงได้ติดต่อกับธนาคารดังกล่าว จึงทราบข้อเท็จจริงว่านายชาตรี จันทร์แก้ว ได้นำบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่หายไปไปทำการเปลี่ยนแปลงรูปถ่ายเจ้าของบัตรแล้วนำไปเปิดบัญชีที่ธนาคารดังกล่าว ซึ่งสมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิยืนยันว่า ผู้ที่มาทำการเปิดบัญชีไม่ใช่จำเลยแต่เป็นนายชาตรีจันทร์แก้ว ซึ่งอ้างชื่อจำเลย จำเลยได้ไปร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 594,853.21 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 563,740 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทตามฟ้องทั้งหกฉบับหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งหกฉบับเป็นใครโจทก์คงนำสืบแต่เพียงว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งหกฉบับจากนายสมปอง จงเจริญมณีกุลลูกหนี้ของโจทก์ แต่โจทก์มิได้นำนายสมปองมาเบิกความให้เห็นว่านายสมปองได้เช็คพิพาททั้งหกฉบับมาอย่างไร จำเลยนำสืบปฏิเสธว่าไม่เคยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางกะปิ และไม่เคยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งหกฉบับแต่นายชาตรี จันทร์แก้ว ได้ปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยแล้วนำไปเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางกะปิ โดยนายชาตรีอ้างตัวเองว่าเป็นจำเลยโดยจำเลยมีนายประโยชน์ เจียรวงศ์วาน พนักงานฝ่ายเปิดบัญชีของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาบางกะปิ มาเบิกความยืนยันว่าผู้ที่มาเปิดบัญชีในนามของจำเลยนั้นได้นำบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย พยานได้ตรวจดูหน้าตาของผู้มาขอเปิดบัญชีแล้ว เห็นว่า ตรงกับรูปถ่ายในบัตรประจำตัวประชาชน แต่เมื่อเกิดคดีขึ้นแล้ว จำเลยได้ไปหาพยานที่ธนาคารและเอาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยให้ พยานตรวจดูแล้วปรากฏว่า ไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้มาขอเปิดบัญชีได้ให้ไว้ประกอบกับต่อมาในระหว่างที่คดีนี้อยู่ในพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ 15 มกราคม 2530ว่า ตำรวจจับตัวนายชาตรี จันทร์แก้ว และพนักงานอัยการได้ฟ้องนายชาตรีต่อศาลอาญาในข้อหาปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและใช้ บัตรประจำตัวประชาชนปลอมนั้น แสดงต่อนายประโยชน์เจียรวงศ์วาน จนนายประโยชน์หลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริง และยอมให้นายชาตรีเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ และศาลอาญาได้พิพากษาว่านายชาตรีมีความผิดฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมลงโทษจำคุก 3 ปีปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ 8977/2529ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายชาตรี จันทร์แก้วจำเลย ท้ายคำแถลงของจำเลยดังกล่าว ซึ่งทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำแถลงดังกล่าวของจำเลยแล้ว มิได้แถลงคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำแถลงดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งหกฉบับตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับรวมตลอดถึงดอกเบี้ยแก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share