คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5717/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ยังไม่ปรากฏว่าศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาและได้มีการส่งคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาแล้วแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ก่อนจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลฎีกาไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์รับจำเลยเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการประจำเขต 351 จังหวัดอุดรธานี ในวันเริ่มต้นทำงานจำเลยได้รับเอกสาร “ยินดีต้อนรับสู่โลกของมิสทีน” ไว้จำนวน 1 ชุด เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการประจำเขต โดยสัญญาว่าจะส่งมอบคืนโจทก์เมื่อพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ หากไม่สามารถส่งคืนได้ไม่ว่ากรณีใดจะชำระราคาชุดละ 500 บาท นอกจากนั้นจำเลยยังได้ตกลงซื้อชุดกระเป๋าแต่งตั้งมิสทีนซึ่งเป็นอุปกรณ์การขายสินค้าของสมาชิกโจทก์จำนวน 60 ชุด ราคาชุดละ 250 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท โดยจำเลยยังไม่ชำระเงินแต่จำเลยตกลงว่าหากพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์แล้ว จำเลยจะส่งคืนชุดกระเป๋าแต่งตั้งทั้งหมดให้โจทก์ในสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนหรือมิฉะนั้นจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2542 จำเลยได้รับหม้อตุ๋นอิมาร์เฟล็กจากนางหนูแดง สุบิน สมาชิกของโจทก์ที่นางหนูแดงขอคืนสินค้าให้โจทก์แต่จำเลยไม่นำส่งคืนโจทก์ เป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม2542 โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่ยอมคืนเอกสารยินดีต้อนรับสู่โลกของมิสทีน กระเป๋าแต่งตั้ง และหม้อตุ๋นให้โจทก์ นอกจากนั้นยังทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณในทางการค้าคิดเป็นค่าสินไหมทดแทนจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 117,728.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 117,728.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกหม้อตุ๋นอิมาร์เฟล็กจากโจทก์ จำเลยได้ส่งคืนหม้อตุ๋นให้โจทก์แล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง โจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยจำเลยไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ20,500 บาท โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน 123,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 41,000 บาท ค่าจ้างของเดือนพฤษภาคม 2542 จำนวน 13,666.60บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 738,000 บาท รวมเป็นเงิน915,666.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องแย้งเป็นดอกเบี้ย 5,456.36 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 921,122.96 บาท แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 921,122.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของต้นเงิน 915,666.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยกระทำการทุจริต จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ทั้งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามฟ้องแย้งเพราะโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชุดกระเป๋าแต่งตั้งจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25พฤษภาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 21,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 108,000บาท และค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยคำขออื่นให้ยก

ภายหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา แต่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลฎีกา ต่อมาเมื่อศาลฎีกาได้พิจารณาสั่งคำร้องของโจทก์แล้วและอยู่ระหว่างการนัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2544ต่อศาลแรงงานกลางความว่า มูลเหตุที่จำเลยไม่ส่งคืนสินค้าซึ่งจำเลยรับมอบจากสมาชิกของโจทก์รายนางหนูแดง สุบิน ให้แก่โจทก์นั้น เป็นการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงอุดรธานีตามคดีหมายเลขแดงที่ 655/2544 ของศาลดังกล่าว ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงอุดรธานี โจทก์จึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งรอการพิจารณาคดีนี้เพื่อรอฟังผลคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าศาลได้ออกหมายนัดไปแล้วจะสั่งคำร้องของโจทก์ในวันนัด ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางงดอ่านคำสั่งของศาลฎีกา และส่งคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 8มิถุนายน 2544 ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่ง

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมและไม่แน่ว่าศาลฎีกาจะสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ยังไม่ปรากฏว่าศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาและได้มีการส่งคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาแล้วแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อนจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลฎีกาไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share