แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แท้จริงแล้วน้องชายโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่น้องชายโจทก์โอนหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เป็นการโอนหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญารับสภาพหนี้ด้วยความหวาดกลัว แต่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีไว้ว่าสัญญารับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์ทำขึ้นเอง ลายมือชื่อก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีมูลหนี้ต่อโจทก์ไม่ถึงตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้นข้อที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาดังกล่าวเป็นข้อที่นอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก
พฤติการณ์ที่ร้านค้าของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันชื่อเหมือนกับชื่อหมู่บ้านที่โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างมาให้จำเลยทั้งสองเคยไปดูแลการทำงานของช่างก่อสร้างในหมู่บ้านดังกล่าวและบ้านของจำเลยทั้งสองถูกใช้เป็นสำนักงาน โดยมีเสมียนเข้าไปทำงานในบ้านของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาชำระหนี้และบันทึกข้อความในฐานะภริยาผู้ให้ความยินยอมแสดงให้เห็นได้ว่ากิจการ ก่อสร้างหมู่บ้านดังกล่าวเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาทำด้วยกัน ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ร่วมกันซื้อสินค้าไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างจากโจทก์เพื่อนำไปปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ที่หมู่บ้านศรีพูนทรัพย์ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้การซื้อสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ รวมเป็นเงิน ๖๔๒,๐๐๐ บาท โดยได้ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์แล้วในวันทำสัญญาเป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ส่วนเงินที่เหลือ ๕๗๒,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ตกลงจะชำระหนี้แก่โจทก์ให้หมดสิ้นภายในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน ๕๗๖,๘๑๘.๙๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยสั่งซื้อไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามฟ้อง และจำเลยที่ ๒ ไม่เคยให้ความยินยอมในสัญญารับสภาพหนี้ สัญญารับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้เป็นเอกสารปลอมลายมือชื่อที่ลงไว้ไม่ใช่ของจำเลยทั้งสองหากทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ มีมูลหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญารับสภาพหนี้แล้ว มูลหนี้ก็ไม่ถตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลบที่ ๒ ไม่ใช่ลูกหนี้ร่าวมหรือผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน ๕๗๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัด จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แท้จริงแล้วน้องชายโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่น้องชายโจทก์โอนหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เป็นการโอนหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ยังต้องรับผิดต่อน้องชายโจทก์ในมูลหนี้จริงเพียง ๒๕๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น และจำเลยที่ ๑ ลงชื่อในสัญญารับสภาพหนี้ด้วยความหวาดกลัว เห็นว่าจำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีไว้ว่าสัญญารับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์ทำขึ้นเอง ลายมือชื่อก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ มีมูลหนี้ต่อดจทก์ไม่ถึงตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น ข้อที่จำเลยที่ยกขึ้นฎีกาดังกล่าวเป็นข้อที่นอกเหนือจากที่จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างหมู่บ้านศรีพูนทรัพย์ด้วยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น ปัญหานี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ ๒ นำสืบรับกันฟังได้ว่า ร้านค้าของจำเลยทั้งสองชื่อศรีพูนทรัพย์เหมือนกับชื่อหมู่บ้านที่โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างมาให้ จำเลยทั้งสองเคยไปดูแลการทำงานของช่างก่อส้างในหมู่บ้านศรีพูนทรัพย์และบ้านของจำเลยทั้งสองถูกใช้เป็นสำนักงานโดยมีเสมียนเข้าไปทำงานในบ้านของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาชำระหนี้เอกสารหมายจ.๑๔ และบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๒๕ ในฐานะภริยาผู้ให้ความยินยอม เห็นว่าพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่ากิจการก่อสร้างหมู่บ้านศรีพูนทรัพย์เป็นการงานที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาทำด้วยกัน ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ ๒ ต้องเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๐(๓) ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน.