แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากเจ้ามรดกตาย โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกและ ส. ซึ่งเป็นภรรยาของเจ้ามรดกครอบครองทรัพย์มรดก คือที่ดินพิพาทร่วมกัน ส่วนบุตรคนอื่นของเจ้ามรดกไม่ปรากฏว่าได้ร่วมครอบครองที่ดินพิพาทด้วย แม้ต่อมา ส. ได้รื้อบ้านออกไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นก็ถือว่าโจทก์จำเลยและ ส. ได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 การที่ ส. ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวในภายหลังโดยโจทก์ไม่ยินยอม โจทก์ยังคงมีส่วนในที่ดินพิพาทนั้น1 ใน 3 ส่วนอยู่เช่นเดิม ส. ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปยกให้จำเลย โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทที่ตนเป็นเจ้าของรวมจากจำเลย 1 ใน 3 ส่วนได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นบุตรของนายกล่ำและนางสินสร้อยนาค ที่ดินพิพาท 2 แปลงเป็นสินเดิมของนายกล่ำ นายกล่ำถึงแก่ความตาย โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ จำเลยและนางสิน ซึ่งได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาต่อมานางสินได้ขอออกโฉนดที่ดินลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว แล้วนำไปยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 2 แปลงให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายกล่ำ แต่เป็นทรัพย์ของนางสิน ก่อนนางสินถึงแก่ความตาย นางสินได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์แปลงละกึ่งหนึ่ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากนายกล่ำเจ้ามรดกตาย คงมีแต่โจทก์และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย โดยต่างก็มีบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในที่ดินแปลงนั้น ส่วนบุตรคนอื่น ๆ ของนายกล่ำไม่ปรากฏว่าได้ร่วมครอบครองด้วยสำหรับนางสินได้รื้อบ้านออกไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นภายหลังนายกล่ำตายแล้ว ดังนี้ ถือว่าโจทก์จำเลยและนางสินได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 แม้ต่อมานางสินขอออกโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงโดยลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ยินยอม ถือว่าโจทก์ยังคงมีส่วนในที่ดินพิพาทนั้น 1 ใน 3 ส่วนอยู่เช่นเดิม นางสินไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปยกให้จำเลยโดยเสน่หาได้ ฉะนั้นปัจจุบันนี้โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง1 ใน 3 ส่วน ของที่ดินพิพาทแต่ละแปลง โจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงที่ตนเป็นเจ้าของรวมจากจำเลยแปลงละ1 ใน 3 ส่วนได้ เพราะเป็นกรณีที่เจ้าของรวมเรียกให้แบ่งทรัพย์จากเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ใน 3 ส่วน.