คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ จะมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 ประกาศใช้แล้ว แต่เมื่อโจทก์ถูกสอบสวนทางวินัยก่อนที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตาม มาตรา 32 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อกำหนดตำแหน่งแล้ว การสอบสวนทางวินัยยังไม่เสร็จคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 และ กฎ ก.พ.ฉบับที่ 60 (พ.ศ.2497) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่สอบสวนโจทก์ ตามมาตรา 117 และ 121 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518
การสอบสวนตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2497) นั้น คณะกรรมการสอบสวนเพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบแต่อย่างใด และเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสอบสวนที่จะงดสอบสวนพยานเมื่อจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่ประเด็นสำคัญ
ฎีกาของโจทก์เป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งเสมียนมหาดไทย ตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๑๘ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าหน้าที่ปกครอง ๔) อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้แต่งตั้งจำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอโท อำเภอดอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ได้ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์เรียกร้องเงินจากนายแฝง หิรัญมูล ๑๕,๐๐๐ บาท และนายเรียง พ่วงลาภ นายอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ กล่าวหาว่าโจทก์มีพฤติการณ์อันทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการได้ดำเนินการสอบสวนตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อสอบสวนเสร็จได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนอจำเลยที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๘ โดยเสนอความเห็นว่าการกระทำของโจทก์น่าจะมีการทุจริต และกระทำการอย่างอื่นซึ่งไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ควรลงโทษให้ออกจากราชการ ตามมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ จำเลยที่ ๒ เห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งให้ออกจากราชการ ตามคำสั่งจังหวัดชัยภูมิ ที่ ๒๔๔๖/๒๕๑๘ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เห็นว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การลงโทษให้ออกจากราชการ ยังไม่เหมาะสมกับกรณีความผิดและระดับโทษ จึงให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษเป็นให้ปลดออกจากราชการ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งเพิ่มโทษโจทก์เป็นปลดออกจากราชการตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๖๘๒/๒๕๒๑ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยพิจารณาวินัยโจทก์ โดยอาศัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ.๒๔๘๗) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบเพราะขณะนั้นมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖ ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้แล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ และวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๘ ตามลำดับ ก.พ.ได้กำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๓๒ ของข้าราชการพลเรือน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๘ การพิจารณาทางวินัยแก่โจทก์จึงต้องใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๑๘) นั้น เห็นว่า แม้ตอนที่จังหวัดชัยภูมิตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์จะมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลในมาตรา ๑๑๗ วรรคแรก บัญญัติว่า ในระหว่างที่ ก.พ.ยังมิได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ ในส่วนราชการใด ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ มาใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนในส่วนราชการนั้นไปพลางก่อน ทั้งนี้ไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมาตรา ๑๒๑ บัญญัติว่า เมื่อ ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ ในส่วนราชการใดแล้ว ข้าราชการพลเรือนในส่วนราชการนั้นผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัย หรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้ดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษผู้นั้น หรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ส่วนการสอบสวนพิจารณาให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่
๑. ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้สอบสวนโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไปก่อนวันที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๓๒ และยังสอบสวนไม่เสร็จก็ให้สอบสวนตามกฎหมายนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ ฯลฯ จึงเห็นได้ว่า กรณีของโจทก์นั้นจังหวัดชัยภูมิตั้งกรรมการสอบสวนวินัยก่อนที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ และเมื่อกำหนดตำแหน่งแล้ว การสอบสวนทางวินัยยังไม่เสร็จ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ และกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ.๒๔๙๗) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่สอบสวนโจทก์ไม่ใช่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๑๘) อย่างที่โจทก์ฎีกา การสอบสวนตามกฎ ก.พ.ดังกล่าวมิได้กำหนดให้คณะกรรมการต้องสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนการที่จะสอบพยานเพียงใด ก็เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการที่จะงดสอบสวนพยานเมื่อจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็นหรือมิใช่ประเด็นสำคัญ การดำเนินการสอบสวนของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำโดยชอบ และจำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาออกคำสั่งตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว ย่อมไม่มีความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ สั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๘๖ ทวิ (๒) โดยต้องส่งเรื่องของโจทก์ให้ อ.ก.พ. จังหวัดพิจารณานั้น เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share