คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2024/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ศาลแขวงพิพากษายกฟ้องและอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ นั้น ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลแขวงวินิจฉัยมาแล้วเป็นหลักในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย หากข้อเท็จจริงตามที่ศาลแขวงฟังมายังขาดตกบกพร่องหรือไม่เพียงพอ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลแขวงวินิจฉัยข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายได้การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลแขวงฟังเป็นยุติมาแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยที่มิชอบแม้จำเลยจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างอิง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225, 208(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาที่ดินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยรวม ๗ โฉนด และจำเลยกระทำผิดหน้าที่ ซึ่งโจทก์ได้มอบหมายให้ลงชื่อทางทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ และได้มอบโฉนดที่ดินและที่ดินให้จำเลยยึดถือครอบครองแทนโจทก์เพื่อความสะดวกในทางค้าการค้าขายที่ดินของโจทก์ จำเลยได้เอาที่ดินดังกล่าวไปขายฝากแก่ผู้มีชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาคดีนี้กับคดีอื่นอีก ๒ สำนวนแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้ง ๓ สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยคดีนี้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ให้จำคุก ๑ ปี
จำเลยฎีกาโดยศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น ฉะนั้นเมื่อศาลแขวงพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ปรากฏว่าเมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลแขวงสั่งว่าอุทธรณ์บางข้อเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับอุทธรณ์นอกจากนี้ให้รับเป็นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายให้รับอุทธรณ์ข้อนี้ด้วย แล้วศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีชื่อในโฉนดแทนห้างหุ้นส่วนโจทก์ และจำเลยเอาที่ดินบางโฉนดไปทำสัญญาขายฝากนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินเหล่านั้น แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยนำโฉนดไปให้ผู้ซื้อยึดถือไว้เป็นประกันย่อมแสดงว่าโฉนดเหล่านั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลย ฉะนั้นการที่จำเลยนำที่ดินไปทำสัญญาขายฝากและมอบโฉนดซึ่งจำเลยครอบครองให้ผู้ซื้อยึดไว้เป็นประกันโดยนายอำพลหุ้นส่วนผู้จัดการไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย และเงินที่จำเลยได้มาจากการทำสัญญาขายฝากที่ดินก็ไม่ได้มอบให้โจทก์ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ นั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลแขวงพิพากษายกฟ้องแล้วจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ปัญหาข้อเท็จจริงย่อมถือเป็นยุติตามที่ศาลแขวงฟังมาหากศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้รับไว้ศาลอุทธรณ์ก็จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลแขวงวินิจฉัยเป็นยุติแล้วนั้นมาเป็นหลักในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงตามที่ศาลแขวงฟังมายังขาดตกบกพร่องหรือไม่เพียงพอศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลแขวงวินิจฉัยข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายได้โดยควรแก่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓(๓)(ข) การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินเหล่านั้น แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยนำโฉนดไปให้ผู้ซื้อยึดถือไว้เป็นประกันย่อมแสดงว่าโฉนดเหล่านั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลแขวงฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยที่มิชอบ แม้จำเลยจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างอิงศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๕, ๒๐๘(๒)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามนัยดังกล่าวข้างต้น

Share