คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522มาตรา 3 วางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่โทษฐานทำไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2525 มาตรา 4 วางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท โทษจำคุกที่จำเลยทั้งแปดจะได้รับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ดังกล่าวสูงถึงยี่สิบปีจึงเป็นโทษที่หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวซึ่งมีโทษขั้นสูงเพียงสิบห้าปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าโทษขั้นต่ำของกฎหมายใดจะสูงกว่ากัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งแปดมีความผิดฐานแผ้วถางป่าและทำไม้หวงห้ามโดยไม่รับอนุญาต แต่ให้ลงโทษฐานแผ้วถางป่าตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้และเมื่อศาลฎีกาเห็นอีกว่า ที่ศาลล่างลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8ในข้อหาดังกล่าวคนละ 8 ปีนั้นหนักเกินไปก็กำหนดโทษให้น้อยลงอีกได้ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ที่มิได้ฎีกาได้ด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225
สำหรับข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งแปดคนละ 4 ปี เช่นเดิม แม้ข้อหาดังกล่าวนี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นหนักเกินไป ก็มีอำนาจแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ และสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไข กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 69, 72 ตรี โดยไม่ระบุวรรค ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยระบุวรรคให้ถูกต้องได้ด้วย

Share