แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารทรัสต์รีซีทที่ผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศทำให้ไว้แก่ธนาคารโดยยอมให้ธนาคารยึดถือเอกสารดังกล่าวเป็นประกันเพื่อการชำระเงินตามตั๋วเงินและถือกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่สั่งซื้อเป็นของธนาคารโดยผู้สั่งซื้อสินค้าจะต้องเอาสินค้านั้นไปจำหน่ายแล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระให้ธนาคารผู้ร้อง อันเป็นผลจากการที่ผู้สั่งซื้อสินค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับธนาคารในการสั่งซื้อสินค้านั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลผูกพันคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 วัตถุประสงค์แห่งสัญญาเช่นนี้นอกจากจะก่อให้เกิดสิทธิแก่ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องเอาชดใช้ราคาสินค้าแล้วยังเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งให้เจ้าหนี้ไปจนกว่าจะมีการชำระราคาแล้วเสร็จตราบใดที่ผู้สั่งสินค้ายังไม่ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคารก็จะเรียกร้องเอากรรมสิทธิ์ในสินค้าคืนจากธนาคารไม่ได้ กรณีเช่นนี้ธนาคารจึงเป็นทั้งเจ้าหนี้และเจ้าของสินค้าไปพร้อม ๆ กัน
เอกสารทรัสต์รีซีทที่จำเลยทำให้ไว้แก่ธนาคาร ย่อมเป็นการก่อตั้งทรัพยสิทธิ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1298 กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่สั่งซื้อมาจึงตกเป็นของธนาคารไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคารมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะขอให้ปล่อยทรัพย์ที่เจ้าหนี้ของจำเลยยึดไว้ได้
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชำระเงินให้โจทก์ ๑๙๑,๓๖๕ บาท และศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว แต่จำเลยผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ซึ่งอ้างว่าเป็นของจำเลยรวม ๓ รายการ คือ เครื่องทุ่นแรงควายเหล็กเทพฤทธิ์ ๒๕ และอุปกรณ์พร้อม๑ คัน รถขุดร่อง ๑ คัน และเครื่องพ่นยา ๑ เครื่องเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่ยึดทั้ง ๓ รายการเป็นของผู้ร้อง รวมราคา๒๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทจำเลยได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านผู้ร้อง โดยตกลงให้ผู้ร้องชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายต่างประเทศไปก่อน เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือแล้วจำเลยจะชำระเงินให้แก่ผู้ร้อง แล้วรับเอกสารในการสั่งซื้อไปออกของจากท่าเรือ เนื่องจากสินค้ามาถึงท่าเรือแล้วจำเลยไม่มีเงินชำระ จึงได้มาทำสัญญาทรัสต์รีซีทตามสำเนาและคำแปลท้ายคำร้อง ตกลงให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และจะเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยการยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของจำเลย จำเลยเป็นผู้ซื้อและชำระเงินต่อผู้ขายในต่างประเทศ ทั้งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีอำนาจจัดการใด ๆ เช่นจำหน่ายจ่ายโอนได้ทั้งสิ้น ทรัสต์รีซีทหากจะได้กระทำต่อกัน ผู้ร้องก็เป็นเพียงเจ้าหนี้ธรรมดาไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินเอกสารท้ายคำร้องเป็นนิติกรรมอำพราง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งบริษัทจำเลยทำไว้กับธนาคารผู้ร้อง เป็นข้อตกลงที่บริษัทจำเลยได้มอบกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้แก่ธนาคารผู้ร้องแล้ว ไม่ใช่เป็นแต่หลักทรัพย์เพื่อประกันหนี้ต่อธนาคาร มีผลให้กรรมสิทธิ์ในสินค้าตกเป็นของธนาคารผู้ร้อง นับแต่วันที่จำเลยทำเอกสารขึ้นทั้งมิใช่นิติกรรมอันทำขึ้นด้วยเจตนาอำพราง การที่บริษัทจำเลยนำสินค้าออกขายก็เป็นเรื่องที่บริษัทจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีทต่างหาก พิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดทั้งสามรายการ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า เนื้อหาแห่งทรัสต์รีซีทมิใช่เป็นการก่อตั้งทรัพยสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความตามเอกสารทรัสต์รีซีทสรุปข้อสารสำคัญได้ว่าในการที่บริษัทจำเลยสั่งสินค้าทั้งสามรายการเข้ามาจากต่างประเทศนั้นยอมให้ธนาคารผู้ร้องถือเอาเอกสารรับสินค้าเป็นประกันเพื่อการชำระเงินตามตั๋วเงินและถือกรรมสิทธิ์สินค้าเป็นของธนาคารได้ โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทจำเลยทำหน้าที่แทนธนาคารผู้ร้องในการนำเข้า เก็บรักษาและจะต้องเอาสินค้าไปจำหน่าย แล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระให้ธนาคารผู้ร้องต่อไปทั้งธนาคารผู้ร้องมีสิทธิเลิกสัญญาและเข้าครอบครองสินค้าทั้งหมดนั้นเมื่อใดก็ได้เอกสารทรัสต์รีซีทดังกล่าวเป็นผลจากการที่บริษัทจำเลยได้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตในการสั่งซื้อสินค้าไว้ที่ธนาคารผู้ร้อง ซึ่งมีข้อสัญญาผูกพันไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับความที่ปรากฏในเอกสารทรัสต์รีซีทด้วย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๖๘ นั้น พึงเห็นได้ว่าเอกสารทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ไม่เข้าลักษณะเอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ วัตถุประสงค์แห่งสัญญาเช่นนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดสิทธิแก่ธนาคารผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้เรียกร้องเอาชดใช้ราคาสินค้าเป็นพิเศษแล้ว ยังเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งให้เจ้าหนี้ไปจนกว่าจะมีการชำระราคาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ผู้ร้องได้นำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารว่า วิธีการทรัสต์รีซีทนั้น ธนาคารทั่วไปถือปฏิบัติอย่างเดียวกัน คือเมื่อลูกค้าของธนาคารสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยการเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต เท่ากับให้ธนาคารชำระราคาสินค้าแก่ผู้ขาย ณ ต่างประเทศไปก่อน เมื่อสินค้าถูกนำเข้ามาถึงแล้ว ลูกค้าจะต้องนำเงินราคาชำระให้ธนาคารเพื่อไปขอออกสินค้าที่กรมศุลกากร ถ้าลูกค้าไม่มีเงินชำระก็ต้องทำเอกสารทรัสต์รีซีทให้แก่ธนาคารไว้ โดยธนาคารถือว่าสินค้าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารแล้ว โดยปกติประเพณีแห่งข้อสัญญาตามเอกสารทรัสต์รีซีทเป็นที่เห็นได้ชัดว่า เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีผลผูกพันคู่กรณีตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๖๙ โดยเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่งแก่กันแล้ว ตราบใดที่บริษัทจำเลยยังไม่ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคารผู้ร้องก็จะเรียกเอากรรมสิทธิ์ในสินค้าคืนจากธนาคารผู้ร้องไม่ได้ กรณีเช่นนี้ธนาคารผู้ร้องจึงเป็นทั้งเจ้าหนี้และเป็นเจ้าของสินค้าไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น ทรัพย์ที่ยึดจึงเป็นสินค้าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้ร้องไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการก่อตั้งทรัพยสิทธิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ แล้ว ธนาคารผู้ร้องย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเสียได้ โจทก์จะโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยหาได้ไม่
พิพากษายืน.