คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐาน ยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ก็ตามแต่ การวิ่งราวทรัพย์หรือยักยอก ก็คือการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาทุจริตเช่นเดียวกัน คงแตกต่าง กันแต่ เพียงเอาทรัพย์ไปโดยวิธีการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หรือด้วยวิธีครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน จึงเป็นการแตกต่างกันมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่จำเลยจึงมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๐ เวลากลางคืนจำเลยลักเอากางเกงขายาว ๑ ตัว ราคา ๑๕๐ บาท เสื้อยืด ๑ ตัว ราคา ๕๐๐ บาท เงินสด ๘๕๐ บาท และนาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน ราคา ๒๐๐ บาทรวมเป็นเงินจำนวน ๑,๗๐๐ บาท ของนายประนอม บุญนิ่ม ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยฉกฉวยเอาทรัพย์ไปซึ่งหน้าผู้เสียหายเหตุเกิดที่ตำบลหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๑,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔ จำคุก ๖ เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๑,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ นั้น เป็นเรื่องศาลฟังข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องและเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ศาลจะต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง นั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องวิ่งราวทรัพย์และยักยอกทรัพย์คือการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาทุจริตเช่นเดียวกัน คงแตกต่างกันแต่เพียงเอาทรัพย์ไปโดยวิธีการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าหรือด้วยวิธีครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนจึงเป็นการแตกต่างกัน มิใช่ในข้อสาระสำคัญ และทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่จำเลยจึงมิได้หลงข้อต่อสู้ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ที่จำเลยฎีกาว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสามให้ศาลลงโทษจำเลยได้ในการกระทำความผิดในมาตราอื่นที่ไม่ได้ขอให้ลงโทษอันอยู่ในหมวดความผิดเดียวกัน ถ้าหากต่างหมวดความผิดกันจะต้องบัญญัติให้อำนาจไว้เช่นความผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสามเป็นบทบัญญัติขยายความคำว่าข้อสาระสำคัญในวรรคสอง ให้เข้าใจว่าถ้าหากข้อแตกต่างเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ แต่ถ้าแตกต่างกันเพียงรายละเอียดที่จะต้องกล่าวในคำฟ้องให้ถือว่าแตกต่างกันมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และในวรรคสามยังได้ยกตัวอย่างไว้ว่าเช่นอะไรบ้างที่ให้ถือว่าไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ สำหรับความผิดวิ่งราวทรัพย์ก็คือความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กิริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ดังนั้นข้อแตกต่างกันระว่างการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์และยักยอกจึงถือได้ว่ามิได้แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสามศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ วรรคใดย่อมไม่ถูกต้อง เพราะความในสองวรรคแตกต่างกันและโทษไม่เท่ากันจึงควรกำหนดเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ วรรคแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share