คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยตกลงให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกเช่าโรงแรมพิพาทโดยโจทก์จ่ายเงินค่าตอบแทนให้จำเลยเป็นเงิน1,000,000 บาท จำเลยผิดสัญญานำโรงแรมพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยคืนเงินจำนวน1,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งห้า เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 หาจำต้องบรรยายถึงฐานะตนเองมาในคำฟ้องด้วยไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงแรมทวีสุข เลขที่ 22/3 ซอยผาสุข ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจโรงแรมกับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภรรยา เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองได้ตกลงให้โจทก์กับพวกซึ่งจะได้ก่อตั้งเป็นรูปบริษัทเช่าสถานที่ตั้งโรงแรมและอาคารโรงแรมทวีสุข เพื่อดำเนินกิจการประเภทโรงแรมในอัตราค่าเช่า 66,000 บาท ต่อเดือน มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 16 ปีโดยจะไปจดทะเบียนการเช่าต่อกันในภายหลัง เมื่อโจทก์ได้ซ่อมแซมปรับปรุงตัวอาคารโรงแรมและบริเวณโรงแรมเป็นที่เรียบร้อยแล้วในการที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์เช่า โจทก์ยอมเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโรงแรมเองทั้งสิ้น และยอมให้บรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ ตกติดไว้กับอาคารโรงแรม เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองทันทีเมื่อครบกำหนดการเช่า กับได้ยอมชำระเงินจำนวน1,000,000 บาท เป็นการตอบแทนการเช่าครั้งนี้ จำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้มอบโรงแรมทวีสุขให้โจทก์กับพวกเข้าครอบครอง โจทก์กับพวกได้ซ่อมแซมปรับปรุงหลายรายการเช่นห้องพัก ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทาสี รื้อย้ายสระน้ำเป็นต้น สิ้นเงินไปเป็นจำนวน 2,000,000 บาทเศษ ในระหว่างปรับปรุงโรงแรมดังกล่าวได้ชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยทั้งสองตลอดมา พร้อมกับได้ดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นบริษัทโรงแรม 79 จำกัดขึ้น แต่การจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทโรงแรม 79 จำกัด ยังไม่เสร็จเรียบร้อยจำเลยทั้งสองได้สมคบกับนายประสิทธิ์ แซ่ห่าน ขัดขวางการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโรงแรม 79 จำกัด โดยแนะนำชักจูงให้นายประสิทธิ์แซ่ห่าน ถอนตัวจากผู้ถือหุ้นเริ่มก่อตั้งบริษัท เป็นเหตุให้การจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทของโจทก์กับพวกล่าช้าไปกว่าเดิม จำเลยทั้งสองจึงได้เอาโรงแรมที่โจทก์เช่าอยู่มอบให้ผู้อื่นเช่า อันเป็นการผิดข้อตกลงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะฟ้องในนามส่วนตัวไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เริ่มก่อการทั้งหมด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายมาให้ชัดเจนว่าโจทก์มีสิทธิอย่างไรที่จะเรียกเงินตามฟ้องคืนจากจำเลย จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินกินเปล่าหรือตอบแทนโจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยเสียหาย รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น1,260,000 บาท เมื่อหักกับเงินค่าประกันความเสียหายที่จำเลยรับไว้แล้ว โจทก์ยังค้างชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 260,000 บาทให้โจทก์ทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อที่ 2 ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์อาศัยสิทธิอะไรในการฟ้องคดี ในฐานะผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทหรือผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกเช่าโรงแรมพิพาทโดยโจทก์จ่ายเงินค่าตอบแทนให้จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยผิดสัญญานำโรงแรมพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งห้า จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว หาจำต้องบรรยายแสดงถึงฐานะตนเองมาในคำฟ้องด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม…”
พิพากษายืน.

Share