คำวินิจฉัยที่ 9/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. รวมทั้งหมด ๘ แปลง เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนซื้อขายให้เฉพาะที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๘๘๓ เท่านั้น ส่วนที่ดินแปลงอื่นไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายได้ เนื่องจากยังมีปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนกันกับที่ดินตาม น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ แปลง “ค่ายเสนาณรงค์” ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดสงขลา (กบร. จังหวัดสงขลา) มีมติว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๒๑ เลขที่ ๑๑๕๒ และเลขที่ ๖๘๘๑ ถึงเลขที่ ๖๘๘๙ เป็นที่ดินที่ได้มีการครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ และผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่เหลือให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไข น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ ให้ถูกต้องตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดสงขลา เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดสงขลา ที่เห็นชอบว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๒๑ เลขที่ ๑๑๕๒ และเลขที่ ๖๘๘๑ ถึงเลขที่ ๖๘๘๙ ได้มีการครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนเป็นที่ดินของรัฐ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไข น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ ให้ถูกต้องตามมติดังกล่าว แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินตาม น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๗๘ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ กรมธนารักษ์ไม่ได้เห็นชอบตามมติ กบร. จังหวัดสงขลา จึงไม่อาจปฏิบัติตามมติได้ จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินแม้ผู้ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีโดยมีคำขอให้ดำเนินการแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่ดินของรัฐ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share