คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาของศาลคดีเด็กและเยาวชน แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ทั้งบทและกำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นวางมา เป็นการแก้มากแต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กนั้น ถือไม่ได้ว่าพิพากษาลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22
การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นการพยายามฆ่า โดยการไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ก่อนที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหาย จำเลยกับพวกผู้เสียหายมีสาเหตุกันด้วยเรื่องผู้เสียหายขับรถเฉียดรถจำเลยแล้วมีการตะโกนท้าทายกันเล็กน้อย ทั้งสองฝ่ายมิได้หยุดรถ ต่อมาจำเลยกลับไปบ้านเอาปืนมายืนตรงที่เกิดเหตุ พอผู้เสียหายขี่รถจักรยานยนต์มา จำเลยก็ยิงเอาโดยไม่มีข้อเท็จจริงใดยืนยันว่าจำเลยมารออยู่เพื่อจะยิงผู้เสียหาย ดังนี้ การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าโดยการ ไตร่ตรองไว้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้ปืนลูกกรดยาวยิงนายเติมศักดิ์ วงศ์อินทร์ นายพิสัณห์ สิทธิวงศ์ และนายธนูเดช ทรัพย์แสนยากร ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนถนนจิระ หลายนัดโดยเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแต่กระทำไม่บรรลุผล เพราะกระสุนที่จำเลยยิงถูกนายธนูเดชแต่เพียงคนเดียวที่ข้อเท้า กระสุนฝังใน แพทย์ทำการรักษาไว้ทันท่วงทีนายเติมศักดิ์ นายพิสัณห์และนายธนูเดชจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 80 และสั่งริบปืนและกระสุนปืน 4 นัด บรรจุในแมกกาซีนของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธว่า ยิงผู้เสียหายเพื่อป้องกันตัวโดยไม่มีเจตนาฆ่าและไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80 ขณะกระทำอายุ 17 ปีเศษ ปรากฏตามรายงานสถานพินิจเสนอความเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวโดยไม่ต้องเอาตัวไว้ฝึกอบรม และบิดาจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอรับตัวไปดูแลระวังมิให้ก่อเหตุร้าย แต่จำเลยอายุเกิน 17 ปี พ้นเกณฑ์ที่ศาลมอบตัวให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จึงเห็นควรลงโทษขั้นต่ำสุด โดยจำคุก 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เหลือจำคุก 8 ปีลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 อีก 1 ใน 4 คงจำคุก 6 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 31(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2506 มาตรา 9 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก จังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 6 ปี ปืนและกระสุนปืนของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแต่มิใช่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ให้จำคุก 12 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 76 คงจำคุก 8 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 5 ปี 4 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ. 2494 มาตรา 32 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 10 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า เป็นพยายามฆ่าโดยการไตร่ตรองไว้ก่อน

จำเลยฎีกาว่า กระทำเพื่อป้องกันตัว ไม่มีเจตนาฆ่า กับขอให้มีคำสั่งมอบตัวให้บิดามารดา

ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนตรวจสำนวนปรึกษาแล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทลงโทษและกำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นวางมาเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดนครราชสีมานั้น ถือไม่ได้ว่าได้พิพากษาให้ลงโทษโดยจำคุกเกิน 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยแล้ว เห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาจำเลยให้ไม่ได้

ส่วนฎีกาของโจทก์ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่นั้น ในการวินิจฉัย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วมีว่า ก่อนจำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายประมาณ 30 นาที จำเลยกับพวกผู้เสียหายมีสาเหตุกันคือ นายเติมศักดิ์ (พวกผู้เสียหาย) ขับรถไปเฉียดรถจำเลยที่ถนนจิระ แล้วมีการตะโกนท้าท้ายกันเล็กน้อยทั้งสองฝ่ายมิได้หยุดรถ คงขับผ่านกันไป ต่อมาจำเลยกลับไปบ้านเอาปืนมายืนตรงที่เกิดเหตุ พอเห็นผู้เสียหายขี่รถจักรยานยนต์มาจำเลยก็ยิงเอา โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดยืนยันว่าจำเลยมารออยู่เพื่อจะยิงผู้เสียหาย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 80 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาวางโทษก่อนแล้ว จึงลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยเพราะขณะกระทำผิด จำเลยอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา 76 ให้จำคุกจำเลย 8 ปี จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ3 ปี ขั้นสูง 5 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 31(2), 32 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 9 และ 10 นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share