แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. 2499 มาตรา 20 การลงโทษทางวินัยแก่พนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ขั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญหรือขั้นหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตำแหน่งหัวหน้างานแปรรูปและหัวหน้าช่างกลโรงเลื่อยไม้ไทย จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการได้ออกคำสั่งให้ตำหนิโทษและให้งดพิจารณาความดีความชอบของโจทก์สำหรับ พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๑๑ มีกำหนด ๑ ปี โดยจำเลยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนและไม่สั่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย ๒๑๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำเลยให้เพิกถอนคำสั่ง
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมีคำสั่งตำหนิโทษและระงับการพิจารณาความดีความชอบของโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิด โจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งลงโทษในทางผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งจำเลยมีอำนาจสั่งได้ ไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่ง เป็นเรื่องที่โจทก์น่าจะร้องเรียนคัดค้างต่อผู้บังคับบัญชาขั้นสูงขึ้นไปตามกฎหมาย กรณีตามฟ้องไม่เป็นละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๐ บัญญัติว่า
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและคนงาน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของ อ.อ.ป. แต่ถ้าพนักงานเช่นว่านั้นเป็นพนักงานขั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือขั้นหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
ฯลฯ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นเบื้องต้นที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยจะต้องนำสืบว่าโจทก์เป็นพนักงานขั้นหัวหน้าหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ ซึ่งผู้อำนวยการจะสั่งลงโทษทางวินัยได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้และข้อเท็จจริงอื่นตามฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลยได้ความอย่างใดแล้ว จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ประการใดหรือไม่ และจะสั่งให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาถอนแล้ว พิพากษายืน