คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์จัดให้มีบริการโทรศัพท์และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์กับค่าใช้บริการโทรศัพท์ ถือได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่าและเป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้าง อันจะพึงได้รับในการนั้น สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 165(6),(7).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2498 โจทก์จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของกิจการเกี่ยวกับโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนทั่วไป และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์ เปิดบริการให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเช่าโทรศัพท์อันถือเป็นกิจการสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม2520 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าโทรศัพท์จากโจทก์ติดตั้ง ณ บ้านเลขที่ 51โจทก์กำหนดหมายเลขโทรศัพท์ 377-8720 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2525 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2528 จำเลยค้างค่าเช่าและค่าบำรุงรักษา รวมเป็นเงิน53,499.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินรวมดอกเบี้ย
จำเลยให้การข้อหนึ่งว่า สิทธิเรียกร้องสำหรับค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์และค่าธรรมเนียมในการใช้โทรศัพท์ของโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเครื่องโทรศัพท์1,300 บาท ค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2528เป็นเงิน 50 บาท รวม 1,350 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2497 จำเลยได้ขอติดตั้งเช่าโทรศัพท์จากโจทก์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2520 ให้ติดตั้งที่บ้านเลขที่ 51ซอย 7 ถนนสุขาภิบาล 1 เขตบางกะปิ ต่อมาขอย้ายไปติดตั้งที่บ้านเลขที่119/25 ซอยโชคชัย 2 ถนนสุขาภิบาล 1 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ เมื่อเดือนเมษายน 2525 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2528 จำเลยค้างค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้บริการโทรศัพท์เป็นเงิน 55,199.50 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา เมื่อนำเงินประกันการใช้โทรศัพท์จำนวน 3,000 บาทหักหนี้ออกแล้ว คงเหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระ 52,199.50 บาทเครื่องโทรศัพท์ของโจทก์ยังถอนคืนจากจำเลยไม่ได้
มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องของโจทก์ในเรื่องค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้บริการโทรศัพท์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจให้บริการด้านสาธารณูปโภค เงินรายได้จากการให้บริการต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินในการให้บริการมิได้มุ่งเอากำไรแต่อย่างไร โจทก์จึงมิใช่ผู้ค้าในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์นั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่ามีอายุความเท่าใด กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปีนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่โจทก์จัดให้มีบริการโทรศัพท์และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์กับค่าใช้บริการโทรศัพท์นั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่าและเป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 162 (6ฉ), (7) ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530เพราะฉะนั้นสิทธิเรียกร้องสำหรับค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์ และค่าใช้บริการโทรศัพท์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 จึงขาดอายุความว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดชำระค่าเครื่องโทรศัพท์1,300 บาท กับค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2528จำนวน 50 บาท นั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share