คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารที่จำเลยที่ 3 ใช้ติดต่อกับโจทก์เป็นเอกสารที่ติดต่อกันในนามของจำเลยที่ 1 แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า โจทก์ได้เข้าทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีให้โจทก์หรือโจทก์ได้เข้าตกลงทำสัญญากับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เป็นทนายความประจำบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้สถานที่ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ทำการของจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้เอกสารติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำงานฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 3 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อดำเนินการให้ ว. ฟ้องคดีให้โจทก์ล่าช้าจนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์เพราะเหตุขาดอายุความ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะเหตุละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 การอ่านคำพิพากษาในคดีแพ่ง ถ้าคู่ความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลตามกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาก็ได้ โดยให้ศาลจดแจ้งไว้ในรายงานและให้ถือว่าคำพิพากษานั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดขั้นตอนตามกฎหมายให้กระบวนพิจารณาในคดีแพ่งสามารถดำเนินการต่อไปได้จนเสร็จสิ้นแม้กฎหมายให้ถือว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่คดีได้ความว่าโจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ยืนฟ้อง ส. ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันที่คดีดังกล่าวจะขาดอายุความ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รายงานผลการดำเนินงานให้โจทก์ทราบเพียงครั้งเดียว และไม่ได้แจ้งวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกำหนดนัด ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความด้วยเหตุใด และผู้ใดเป็นผู้กระทำให้คดีดังกล่าวขาดอายุความ จนกระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2544 จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกรับสภาพความรับผิดให้แก่โจทก์โดยยอมรับความผิดพลาดในการดำเนินคดีดังกล่าวว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงเพิ่งทราบถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมในวันดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 จึงยังไม่พ้น 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 538,210.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 232,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 232,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะเหตุละเมิดหรือไม่ และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่าไม่ได้ออกหนังสือขอเบิกค่าธรรมเนียมศาลและค่าบริการวิชาชีพ ถึงโจทก์ไม่ได้รับเงินจำนวน 30,000 บาท ตามใบสำคัญรับ ไม่ได้ส่งแนวคำเบิกความ ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งว่าชื่อของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏบนหัวกระดาษ ไม่เป็นจริงหรือไม่ถูกต้องอย่างไร โดยเฉพาะใบสำคัญรับ และหนังสือรายงานผลการดำเนินงาน นั้น จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นเอกสารของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับการรับจ่ายเงินภายในบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ออกหนังสือ โดยผิดหลง ฉะนั้นจึงฟังได้ว่า เอกสารที่จำเลยที่ 3 ใช้ติดต่อกับโจทก์นั้น เป็นเอกสารที่ติดต่อกันในนามของจำเลยที่ 1 แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า โจทก์ได้เข้าทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีให้โจทก์ หรือโจทก์ได้เข้าตกลงทำสัญญากับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เป็นทนายความประจำบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้สถานที่ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ทำการของจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้เอกสารติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้นางสาววิภา ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำงานฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 3 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อดำเนินการให้นางสาววิภาฟ้องคดีให้โจทก์ล่าช้าจนศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์เพราะเหตุขาดอายุความ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะเหตุละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 สำหรับปัญหาข้อสองที่ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า การอ่านคำพิพากษาในคดีแพ่งนั้น ถ้าคู่ความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลตามกำหนด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 (3) ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาก็ได้ โดยให้ศาลจดแจ้งไว้ในรายงานและให้ถือว่าคำพิพากษานั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดขั้นตอนตามกฎหมายให้กระบวนพิจารณาในคดีแพ่งสามารถดำเนินการต่อไปได้จนเสร็จสิ้น แม้กฎหมายให้ถือว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์ได้นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดียื่นฟ้องนายสันติ ต่อศาล จำนวน 30,000 บาท ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ตามใบสำคัญรับก่อนวันที่คดีดังกล่าวจะขาดอายุความเกือบ 2 เดือน และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำรายงานผลการดำเนินงานให้โจทก์ทราบเพียงครั้งเดียวตามหนังสือรายงานผลการดำเนินงานลงวันที่ 28 มีนาคม 2543 โดยรายงานแต่เพียงว่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 ได้มีการสืบพยานโจทก์อีก 1 ปาก แล้วเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไปเท่านั้น และไม่ได้แจ้งวันที่ศาลจังหวัดมีนบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีตามกำหนดนัด ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความด้วยเหตุใด และผู้ใดเป็นผู้กระทำให้คดีดังกล่าวขาดอายุความ จนกระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2544 จำเลยที่ 3ได้ทำบันทึกรับสภาพความรับผิด ให้แก่โจทก์โดยยอมรับความผิดพลาดในการดำเนินคดีดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงเพิ่งทราบถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาทแทนโจทก์

Share