คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องบรรยายว่าการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 มีการขอเพิ่มวงเงินหลายครั้งรวมเป็นเงิน 700,000 บาท โดยมีที่ดินจำนองเป็นประกัน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อยู่เฉพาะต้นเงิน 334,207.57 บาท ฟ้องโจทก์จึงชัดแจ้งสามารถทำให้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจะมีการหักทอนบัญชีกันอย่างไร ค้างชำระหนี้ค่าอะไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามฟ้อง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามฟ้องและตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองให้กับโจทก์แล้วก็ตาม ก็จะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์และมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหาได้ไม่ เพราะการจำนองดังกล่าวก็เพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อโจทก์เท่านั้น เป็นคนละเรื่องกับการชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์หรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยขอเบิกเงินเกินบัญชีกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 226 เป็นจำนวนไม่เกิน 90,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนนับจากวันทำสัญญา และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชียินยอมให้ดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินวงเงินในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เป็นหนี้ เมื่อสัญญาครบกำหนดจำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีก 12 เดือน วันที่3 มีนาคม 2524 จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน110,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 ยอมให้ดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินวงเงินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร มีกำหนดระยะเวลา 8 เดือน 24 วันนับแต่วันทำบันทึกขอเพิ่มวงเงิน วันที่ 16 มิถุนายน 2524 จำเลยที่ 1ขอเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีอีกจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 300,000 บาท กำหนดระยะเวลา 3 เดือน 16 วัน นับแต่วันทำบันทึกขอเพิ่มวงเงิน วันที่ 17 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1ขอเพิ่มวงเงินอีกจำนวน 200,000 บาท รวมเป็นวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 500,000 บาทกำหนดระยะเวลา 3 เดือน 10 วัน นับแต่วันทำบันทึกขอเพิ่มวงเงินโดยยอมให้ดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินวงเงินในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารเมื่อสัญญาครบกำหนดจำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญาอีกมีกำหนด 12 เดือนนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2525จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินอีกจำนวน 100,000 บาท รวมวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 600,000 บาท กำหนดระยะเวลา 6 เดือน6 วัน นับแต่วันทำบันทึกขอเพิ่มวงเงิน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว วันที่ 27 พฤศจิกายน 2525 จำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกมีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันต่อสัญญานี้ ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินอีก 100,000 บาทรวมเป็นวงเงินเบิกเกินเกินบัญชี 700,000 บาท กำหนดระยะเวลา 51 วันนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2526 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 1นำที่ดินโฉนดเลขที่ 6974 ตำบลมีนบุรี (บางชัน) อำเภอมีนบุรีกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดหรือทรัพย์ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ ราคาน้อยกว่าจำนวนหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ให้โจทก์จนครบ วันที่ 7 ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มวงเงินที่จำนองอีก 100,000 บาท นับแต่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโจทก์ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นและลดลงตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ค้างชำระถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2527 เป็นจำนวนเงิน334,207.57 บาท ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2527 โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จึงขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่ 5 ตุลาคม 2527 ซึ่งถัดจากวันที่คิดหักทอนบัญชีจนถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 9,568.40 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย343,775.97 บาทนอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 1ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 28 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน99,500 บาท กำหนดชำระ 35 และ 39 วัน นับแต่วันที่ลงในตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ โดยทำหนังสือรับรองว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และยอมชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ 1ผิดสัญญาด้วย ในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี จำนวน 2 ฉบับ ที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินจำนวน 47,000 ลาท และ 52,500บาท มามอบให้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกัน เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารโจทก์ สาขาบางซื่อ เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม2526 จำนวนเงิน 47,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงินถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 8,157.58 บาท รวมเป็นเงิน55,157.58 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 343,775.97 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 334,207.57 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 55,157.58 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีในต้นเงิน 47,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ที่จำนองโจทก์และทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบจำนวนจำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1โอนทรัพย์ที่จำนองชำระหนี้ให้โจทก์แล้วจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันอีกจำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่า หากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองหรือทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์มีราคาน้อยกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 จะรับผิดในส่วนที่ขาด สำหรับหนี้ตามเช็คฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2526 จำนวนเงิน47,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 ให้ไว้เพื่อเป็นประกันเท่านั้นโจทก์รับว่าจะไม่นำไปเรียกเก็บเงิน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 334,207.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับจากวันที่ 5 ตุลาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6974 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คเป็นเงิน 47,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีสำหรับจำเลยที่ 1 ร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เพราะโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่ 700,000บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อยู่ 334,207.57 บาท จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมอยู่ ๆ โจทก์จึงสรุปเรียกเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน334,207.57 บาท นั้น เห็นว่าตามฟ้องของโจทก์บรรยายแล้วว่าการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 มีการขอเพิ่มวงเงินกับโจทก์หลายครั้งเป็นเงิน 700,000 บาท โดยมีที่ดินจำนองเป็นประกันและฟ้องข้อ 3 โจทก์ก็ได้บรรยายว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่เฉพาะต้นเงิน 334,207.57บาท ฟ้องของโจทก์จึงชัดแจ้งสามารถทำให้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจะมีการหักทอนบัญชีกันอย่างไรค้างชำระหนี้ค่าอะไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นที่จะวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามฟ้อง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามฟ้องของโจทก์ข้อ 3 และตามที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 6974 ตำบลมีนบุรี(บางชัน) อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครให้กับโจทก์แล้วก็ตามก็จะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์และมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องข้อ 3 แล้วหาได้ไม่ เพราะการจำนองดังกล่าวก็เพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อโจทก์เท่านั้น เป็นคนละเรื่องกับการชำระหนี้ให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ครบถ้วนโดยจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะมีพยานบุคคลอื่นหรือพยานเอกสารมาแสดง แต่จำเลยที่ 1 คงมีแต่ตัวเองเบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับหนี้ตามเช็คของจำเลยที่ 2ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์หรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share