แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โจทก์ มีวัตถุประสงค์อันเป็นไปในลักษณะของธุรกิจการค้าตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๗ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับลูกจ้างย่อมมีขึ้นเพื่อดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจการค้า และอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่งทั่วไป และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เมื่อมูลความแห่งคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์อ้างว่า นาย บ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์นมของโจทก์ที่ผลิตเสื่อมคุณภาพเป็นจำนวนมาก กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา ๘ (๑) และ (๕) และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๖/๒๕๕๙
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘
ศาลจังหวัดหัวหิน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดหัวหินส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โจทก์ ยื่นฟ้องนางจารุวรรณ ทองซุ้ย ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ที่ ๑ นายปัฐพงษ์ ทองซุ้ย ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ที่ ๒ นางสาวปัฐวรรณ ทองซุ้ย ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดหัวหิน เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๔๙/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลประเภทรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ มีวัตถุประสงค์ด้านส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโคนม จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาของนายบุญธรรม ทองซุ้ย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นบุตรของนายบุญธรรมกับจำเลยที่ ๑ เมื่อครั้งนายบุญธรรมเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมการผลิต ๑ มีหน้าที่รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์โรงงาน และเป็นคณะกรรมการตรวจรับ PT ๑๐๐ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในคู่มือการจัดทำ GMP และข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบกับทราบมาโดยตลอดว่ามีความแตกต่างของอุณหภูมิ แต่มิได้ปรับปรุงแก้ไขเป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์นมของโจทก์ที่ผลิตระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ เสื่อมคุณภาพเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีดังกล่าวแล้วจึงมีคำสั่งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ที่ ๒๔๗/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๘ เรียกให้นายบุญธรรมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ ๒๐ คิดเป็นเงินจำนวน ๑,๒๓๙,๐๓๕.๗๐ บาท นายบุญธรรมชำระเงินแก่โจทก์แล้วบางส่วน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นายบุญธรรมถึงแก่ความตาย โดยยังค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน ๑,๑๒๑,๕๘๙.๑๐ บาท โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมให้รับผิดชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๕๒,๑๕๗.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๑๒๑,๕๘๙.๑๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายบุญธรรมไม่ได้เป็นหนี้ตามคำฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ได้หักมูลค่าผลิตภัณฑ์นมเสื่อมคุณภาพที่ได้มีการนำเข้าขบวนการผลิตซ้ำ และมูลค่าที่ได้จำหน่ายเป็นนมเสื่อมคุณภาพ ทั้งตามคำสั่งของโจทก์ที่ ๒๔๗/๒๕๔๘ กำหนดเงื่อนไขว่า หากโจทก์ดำเนินคดีกับบริษัทเอพีวี (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับชดใช้ค่าเสียหายเมื่อนำมารวมกับผู้ที่กระทำละเมิดและนายบุญธรรมได้ชดใช้ไว้เกินมูลค่าความเสียหายให้คืนส่วนที่รับไว้เกินแก่ผู้ต้องรับผิดตามสัดส่วนแห่งความรับผิดและที่ได้รับชำระไว้ โดยคดีที่โจทก์ฟ้อง บริษัทเอพีวี (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำนวนหนี้ที่นายบุญธรรมต้องรับผิดจึงยังไม่สามารถสรุปจำนวนที่แน่นอนได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคดีนี้เป็นผลมาจากการที่โจทก์ออกคำสั่งให้นายบุญธรรมกับพวกรับผิดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ทั้งโจทก์ยังใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการหักเงินเดือนของนายบุญธรรมชำระหนี้มาตลอด เมื่อนายบุญธรรมถึงแก่ความตายหากโจทก์จะฟ้องให้ทายาทรับผิดในมูลหนี้ดังกล่าว ต้องฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๒/๒๕๕๔ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำให้การ
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ในระหว่างโจทก์บังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕๗ นายบุญธรรมกับพวกได้ยื่นฟ้องโจทก์กับผู้อำนวยการของโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานภาค ๑ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๐๘-๗๑๐/๒๕๕๒ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของโจทก์ที่ ๒๔๗/๒๕๔๘ จำเลยยื่นคำร้องโตแย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลแรงงานภาค ๑ และศาลปกครองกลางเห็นพ้องกันว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน เนื่องจากเป็นความผิดทางละเมิดเกี่ยวกับการจ้างและแรงงาน ต่อมาศาลแรงงานภาค ๑ พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ในคดีนี้อายัดเงินเดือนของนายบุญธรรมกับพวกตามคำสั่งของโจทก์ที่ ๒๔๗/๒๕๔๘ ได้ ในระหว่างบังคับคดีนายบุญธรรมถึงแก่ความตาย โจทก์ทวงถามให้จำเลย ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชำระหนี้แทน แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์
ศาลจังหวัดหัวหินพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่นายบุญธรรม พนักงานของโจทก์ทำละเมิดต่อโจทก์ ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้มีคำสั่งให้นายบุญธรรมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ อันเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งนายบุญธรรมได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์บางส่วนแล้วนายบุญธรรมถึงแก่ความตาย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรมชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ดังนั้น มูลคดีเกิดจากการที่นายบุญธรรมกับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ แล้วโจทก์มีคำสั่งให้นายบุญธรรมชำระค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองให้นายบุญธรรมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เมื่อนายบุญธรรมถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของนายบุญธรรมย่อมตกแก่กองมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๐ จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกย่อมต้องร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดก แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๑ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่โจทก์ออกคำสั่งให้นายบุญธรรมชำระแก่โจทก์ได้ เมื่อเป็นการฟ้องขอให้บังคับให้ชำระหนี้ตามคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลประเภทรัฐวิสาหกิจมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ มีวัตถุประสงค์ด้านส่งเสริมกิจการโคนมและด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโคนม โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนนายบุญธรรม เป็นลูกจ้างในสังกัดของโจทก์ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรมชำระหนี้ส่วนที่นายบุญธรรมยังคงค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระ อันเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่นายบุญธรรมเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมการผลิต ๑ มีหน้าที่รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์โรงงาน และเป็นคณะกรรมการตรวจรับ PT ๑๐๐ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในคู่มือการจัดทำ GMP และข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์นมของโจทก์ที่ผลิตระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ เสื่อมคุณภาพเป็นจำนวนมาก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่โดยที่นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายบุญธรรมอยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน และมูลเหตุในการออกคำสั่งเรียกให้นายบุญธรรมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ สืบเนื่องมาจากการที่นายบุญธรรมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน เป็นผลให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลประเภทรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ขอให้ร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ สืบเนื่องจากนายบุญธรรมเมื่อครั้งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมการผลิต ๑ มีหน้าที่รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์โรงงาน และเป็นคณะกรรมการตรวจรับ PT ๑๐๐ กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในคู่มือการจัดทำ GMP และข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์นมของโจทก์ที่ผลิตระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ เสื่อมคุณภาพเป็นจำนวนมาก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้ว และมีคำสั่งเรียกให้ นายบุญธรรมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ ๒๐ ของความเสียหาย นายบุญธรรมชำระเงินแก่โจทก์แล้วบางส่วน แต่ต่อมานายบุญธรรมถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรมให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า นายบุญธรรมไม่ได้เป็นหนี้ตามคำฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ได้หักมูลค่าผลิตภัณฑ์นมเสื่อมคุณภาพที่ได้มีการนำเข้าขบวนการผลิตซ้ำ และมูลค่าที่ได้จำหน่ายเป็นนมเสื่อมคุณภาพ ทั้งตามคำสั่งของโจทก์ที่ ๒๔๗/๒๕๔๘ กำหนดเงื่อนไขว่า หากโจทก์ดำเนินคดีกับบริษัทเอพีวี (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับชดใช้ค่าเสียหายเมื่อนำมารวมกับ ผู้ที่กระทำละเมิดและนายบุญธรรมได้ชดใช้ไว้เกินมูลค่าความเสียหายให้คืนส่วนที่รับไว้เกินแก่ผู้ต้องรับผิดตามสัดส่วนแห่งความรับผิดและที่ได้รับชำระไว้ โดยคดีที่โจทก์ฟ้องบริษัทเอพีวี (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำนวนหนี้ที่นายบุญธรรมต้องรับผิดจึงยังไม่สามารถสรุปจำนวนที่แน่นอนได้ เห็นว่า โจทก์จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์จึงเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ด้านส่งเสริมกิจการโคนม เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อ ฝึกอบรมบุคคลให้มีความรู้ความชำนาญในการเลี้ยงโคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อ การผลิตน้ำนมและเนื้อ การประกอบผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อ ฯลฯ และด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโคนม เช่น ผลิต ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งน้ำนมและเนื้อ ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อ โคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อ ตลอดจนอาหารสัตว์ น้ำเชื้อเอ็มบริโอ และอุปกรณ์ต่างๆ ดำเนินธุรกิจบริการเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อและการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อ และดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับธุรกิจอุตสาหกรรมนม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๗ การดำเนินกิจการของโจทก์จึงเป็นไปในลักษณะของธุรกิจการค้า ดังนั้น การที่นายบุญธรรมซึ่งเป็นลูกจ้างตกลงเข้าทำงานกับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการไปในเชิงธุรกิจการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับลูกจ้างย่อมมีขึ้นเพื่อดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจการค้า โจทก์กับนายบุญธรรมจึงมีนิติสัมพันธ์ในฐานะของนายจ้างกับลูกจ้างและอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่งทั่วไป และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เมื่อ มูลความแห่งคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์อ้างว่า นายบุญธรรมซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมการผลิต ๑ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์โรงงาน และเป็นคณะกรรมการตรวจรับ PT ๑๐๐ กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในคู่มือการจัดทำ GMP และข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์นมของโจทก์ที่ผลิตระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ เสื่อมคุณภาพเป็นจำนวนมาก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๕) คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โจทก์ นางจารุวรรณ ทองซุ้ย ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ที่ ๑ นายปัฐพงษ์ ทองซุ้ย ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ที่ ๒ นางสาวปัฐวรรณ ทองซุ้ย ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญธรรม ทองซุ้ย ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ