คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน นายจ้างปลดจำเลยออกจากงาน จำเลยได้รับเงินค่าชดเชยและผลประโยชน์ตามสิทธิที่จำเลยพึงได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างโดยเกิดสิทธิขึ้นจากผลของกฎหมาย หาใช่เพราะนายจ้างจ่ายให้จำเลยโดยเสน่หาไม่ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสของโจทก์ได้เงินดังกล่าวมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474(1) อันโจทก์มีสิทธิขอแบ่งจากจำเลยเมื่อหย่ากัน จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าชดเชยต่าง ๆ มาแล้วต้องใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและอื่น ๆ คงมีอยู่เท่าที่เหลือฝากธนาคารไว้ 100,000 บาท เท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยรับเงินค่าชดเชยและอื่น ๆตามฟ้องเมื่อชดใช้หนี้และใช้อย่างอื่นแล้วยังเหลืออยู่ 242,150.87บาท ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และให้จำเลยแบ่งเงินที่รับไปแล้ว 252,690.37 บาท และที่จะได้รับจากสำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรีอีก 220,033.35 บาท ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะอีกเดือนละ 1,000 บาท จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย เงินต่าง ๆ ที่จำเลยรับมาตามฟ้อง เป็นสินส่วนตัวของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิแบ่ง และจำเลยใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและชำระหนี้สินไปเกือบหมดแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดกับโจทก์ให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ 121,075.40 บาท และจ่ายค่าอุปการะบุตรเดือนละ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่าโจทก์มีสิทธิได้ส่วนแบ่งในเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยหรือไม่เท่าใด จำเลยฎีกาข้อแรกว่าเงินที่จำเลยได้รับตามฟ้องทุกประเภทมิใช่สินสมรส แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งเห็นว่า เงินตามฟ้องเป็นเงินค่าชดเชยและผลประโยชน์พึงได้ตามสิทธิที่จำเลยพึงได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างโดยเกิดสิทธิขึ้นจากผลของกฎหมาย หาใช่เพราะนายจ้างจ่ายให้จำเลยโดยเสน่หาดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสของโจทก์ได้เงินดังกล่าวมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) โจทก์มีสิทธิขอแบ่งจากจำเลยเมื่อหย่ากันตามที่โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันไว้แล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้แบ่งเงินให้โจทก์เพียงจำนวนที่เหลืออยู่ 100,000 บาท โดยอ้างว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องนี้นั้น เห็นว่าจำเลยอุทธรณ์ในข้อนี้ว่า เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าชดเชยต่าง ๆ มาแล้ว ต้องใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและอื่น ๆ คงมีอยู่เท่าที่เหลือฝากธนาคารไว้ 100,000 บาท เท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยรับเงินค่าชดเชยและอื่น ๆตามฟ้องเมื่อชดใช้หนี้และใช้อย่างอื่นแล้วยังเหลืออยู่ 242,150.87บาท ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจำเลยอ้างว่าตัวเองเบิกความลอย ๆ ว่าได้ใช้จ่ายเงินค่ากินอยู่เดือนละประมาณ 2,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลไปหาแพทย์ที่คลินิกค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติ และให้มารดาจำเลยบางส่วน คงเหลือเงินเพียง 100,000 บาทที่ฝากธนาคารไว้เท่านั้น แต่จำเลยเบิกความรับว่า ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 100,000 บาท ทางบริษัททนายจ้างจ่ายทั้งหมด และสำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี จ่ายให้อีก20,000 บาท ซึ่งค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวมีจำนวนสูงมาก พอให้จำเลยมีอาการหายดีแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องไปรักษาพยาบาลอีก ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นจำเลยไม่มีพยานอื่นสนับสนุน โจทก์เบิกความว่าจำเลยเขียนจดหมาย หมาย จ.1 ถึงโจทก์ว่า จำเลยเก็บเงินที่เหลือไว้ได้ถึง 200,000 บาท และยังเก็บเงินไว้ให้บุตรอีกเดือนละ500 บาททุกเดือน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยมีเงินเหลือ 242,150.87 บาท จึงเป็นจำนวนที่เชื่อได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน แต่ที่ศาลชั้นต้นคิดรวมเงินค่าเลี้ยงชีพจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เดือนละ 2,365.95 บาทตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 ที่จำเลยถูกปลดออกจากบริษัทดังกล่าวถึงเดือนมิถุนายน 2526 รวม 10 เดือน เป็นเงิน 23,659.50 บาท รวมเป็นสินสมรสด้วยนั้น ปรากฏว่าโจทก์มิได้มีคำขอบังคับเงินจำนวนดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เป็นสินสมรสและแบ่งให้โจทก์ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง จึงเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์เป็นเงิน109,245.68 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share