คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 38290 ถึง 38297 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ รวม 8 แปลงของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38290 ถึง 38297 รวม 8 แปลง มาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 207/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 276/2552 ศาลมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 8 แปลง ให้เป็นของผู้ร้อง หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์ไม่มีอำนาจยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 38290 ถึง 38297 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ รวม 8 แปลง ตามคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ผู้คัดค้านให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า เมื่อปี 2548 ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ราคา 2,775,000 บาท ชำระเงินดาวน์ 275,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรวม 36 งวด ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หลังจากทำสัญญาผู้ร้องผ่อนชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว ตามใบเสร็จรับเงิน และได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ผู้ร้องจึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ร้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 207/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 276/2552 ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 2 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ให้แก่ผู้ร้องได้ เนื่องจากโจทก์นำยึดไว้ตามคำพิพากษาคดีนี้ ส่วนโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษารวม 23 คดี ในฐานะผู้ค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ได้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ชั้นต้นออกขายทอดตลาดแล้วแต่ไม่พอชำระหนี้ จึงมาบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ามิใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ใหม่พบว่าจำเลยที่ 2 มีที่ดินจำนวน 106 แปลง โดยไม่มีภาระผูกพัน จึงบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 รวม 80 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงในคดีนี้ หลังจากนั้นผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีนี้โดยอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 207/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 276/2552 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทำการตรวจสอบฐานะของจำเลยที่ 2 ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทร้างถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนตั้งแต่ปี 2551 ก่อนยื่นคำฟ้องและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวและก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบริษัทร้างโดยถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2551 ดังนี้ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 อันเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายรวม 26 แปลง ให้แก่ผู้ร้อง และในวันที่ 13 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 207/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 276/2552 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย กรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้อง แม้ต่อมาภายหลังศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 กลับคืนสู่ทะเบียนเสมือนมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273 (4) ก็เป็นผลให้การดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 กลับกลายจะต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งได้กระทำขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใดไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ตามคำร้องผู้ร้องยื่นคำร้องโดยอ้างสิทธิเหนือที่ดินพิพาทว่า ผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน เห็นว่า ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาท และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share