แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และ ป.รัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติให้อุทธรณ์การประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องถือว่าพอใจการประเมินและเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องให้เพิกถอนการประเมินไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 และไม่อาจต่อสู้คดีในชั้นศาลว่าการประเมินไม่ชอบ จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมิน ย่อมไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ในชั้นศาลว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดประเภท
จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยมิได้อุทธรณ์การประเมิน ซึ่งในขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ทั้งต่อมายังเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยที่ 2 ควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ทั้งสองมิได้แจ้งการประเมินแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรจึงรับฟังไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 2,906,974.72 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 179,435 บาท แต่ไม่เกินจำนวนค่าภาษีที่จะต้องเสีย นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 2,906,974.72 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 179,435 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนค่าภาษีที่ต้องชำระ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมินหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า แม้จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากโจทก์ทั้งสองแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมิน ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ถือว่าการประเมินเป็นอันยุติ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2543 มาตรา 8 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน…” และประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติว่า “ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอไม่มีหน้าที่ประเมิน ให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน…” การประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาดรายพิพาทจึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมินนั้นและเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินไม่ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 และย่อมไม่อาจต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองยอมรับมาในอุทธรณ์ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับทราบการแจ้งการประเมินให้ชำระค่าภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ และประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ย่อมมีผลให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ในชั้นศาลว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดประเภทพิกัด คดีจึงรับฟังได้ว่า สินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8701.900 ในฐานะเป็นรถแทรกเตอร์ชนิดอื่นๆ ตามการประเมิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามที่โจทก์ฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบการประเมินมาก่อน โดยจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินการเลิกบริษัทเท่านั้น จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง แต่หากต้องรับผิดก็ไม่เกินทรัพย์สินที่เหลืออยู่จำนวน 343,600 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีหน้าที่ชำระสะสางการงานของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 นั้น จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินภาษีอากรแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 โดยจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ทั้งต่อมาจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 ควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ทั้งสองมิได้แจ้งการประเมินแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรจึงรับฟังไม่ได้ เมื่อปรากฏตามงบดุลว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือ 343,600 บาท แต่จำเลยที่ 2 มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสองโดยกลับแบ่งเงินจำนวนดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากที่แสดงไว้ในงบดุลดังกล่าวหรือมีการจัดทำงบดุลไม่ตรงต่อความเป็นจริงดังที่โจทก์ทั้งสองแก้อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในวงเงินไม่เกินที่จำเลยที่ 1 มีเหลืออยู่ในวันเลิกกิจการเป็นจำนวน 343,600 บาท เท่านั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าภาษีอากรจำนวน 2,906,974.72 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 343,600 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ