คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7625/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทเป็นกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 10,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทข้อ 4 ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน7วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รับการร้องขอเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 มาตรา 20 และกฎกระทรวงฉบับที่ 6(พ.ศ. 2535) ออกตาม ความในพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่รถที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ มิใช่การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 880 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งโจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นได้ด้วย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นส่วนนี้เอาจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเพราะจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้ขับขี่รถหรือนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนอีก 40,000 บาท ที่โจทก์จ่ายให้ฝ่ายผู้ประสบภัยจากรถไปนั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทข้อ 2.1 โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่ผู้ประสบภัยในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดสำหรับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถข้อ 2.1 ดังนั้น การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ ส. ไปจึงเป็นการชำระหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เพราะกรณีไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ทั้งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจจะรับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน11-9106 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3 ประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2537 เวลา 9.45 นาฬิกา หลังจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ซ่อมรถได้ซ่อมรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทดลองขับรถยนต์โดยสารในบริเวณอู่บางขุนเทียนซึ่งเป็นอู่จอดเก็บรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อและไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ รถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสมุทรปราการ จ-3794 ซึ่งนายหทัย มิ่งแก้ว เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้นายหทัยถึงแก่ความตาย เกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 หลบหนีไป โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่นางใสคำ มิสงอน มารดาของนายหทัย จำนวน 10,000 บาท แต่นางใสคำพอใจ ร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 3 กรมการประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน 50,000 บาท และโจทก์ได้ใช้ไปแล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซ่อมรถยนต์โดยสาร และมีส่วนผิดที่ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ทดลองขับรถยนต์โดยสารจะต้องร่วมรับผิดเช่นกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน 11-9106กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 3 ได้เอาประกันภัยประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารหมาย จ.4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซ่อมรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวตามสัญญาจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสารเอกสารหมาย ล.3 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ทำการซ่อมรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวอันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในการซ่อมรถจำเลยที่ 1 ได้ทดลองขับรถและขับด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนนายหทัย มิ่งแก้ว ซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในที่เกิดเหตุเป็นเหตุให้นายหทัยถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางใสคำมิสงอน มารดาของนายหทัยตามบันทึกการเจรจาตกลงค่าเสียหายเอกสารหมาย ล.2และหนังสือประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางใสคำเป็นเงิน 50,000 บาท
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสามหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทเป็นกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้นเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น10,000 บาท ตามกรมธรรมประกันภัยพิพาทข้อ 4 ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับการร้องขอเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 และกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะมิใช่การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 880 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งโจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นได้ด้วยแต่โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นส่วนนี้เอาจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้เพราะจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทั้งไม่ใช่ผู้ขับขี่รถหรือนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนอีก 40,000 บาท ที่โจทก์จ่ายให้ฝ่ายผู้ประสบภัยจากรถไปนั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทข้อ 2.1 โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดสำหรับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถข้อ 2.1 ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่นางใสคำไปจึงเป็นการชำระหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เพราะกรณีไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิตามมาตรา 880แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจจะรับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share