คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ได้ กำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเมื่อยึด ทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย โดย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึด หมายถึง ราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่ง ต้องไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 26,957.13 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 กันยายน 2522 เป็นต้นไป เมื่อคิดคำนวณยอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองจะต้อง รับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาโดยคิดถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 อันเป็นวันที่โจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยเนื่องจากจำเลย ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีจำนวนไม่ถึง 160,000 บาท อันเป็นราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดและเจ้าพนักงานบังคับคดี ประเมินราคาไว้ในครั้งแรก โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียม การยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่ง ของจำนวนหนี้ ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในการบังคับคดีอันมีจำนวนน้อยกว่า ราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าราคาทรัพย์สิน ที่โจทก์นำยึดทรัพย์จะมีราคาประเมินจำนวน 160,000 บาท หรือ จำนวน 2,527,300 บาท ก็ไม่มีผลทำให้ความรับผิดในค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 26,957.13 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 62374 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของนายมนตรี เดชเพิ่มสุข ทายาทจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณราคาทรัพย์ที่ยึดรวม 160,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาที่คำนวณต่ำกว่าราคาที่แท้จริง จึงคำนวณราคาใหม่เป็นเงิน 2,527,300 บาท โจทก์ทราบราคาที่คำนวณใหม่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2538โจทก์ถอนการยึดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายโดยคิดจากทุนทรัพย์ที่คำนวณครั้งหลัง
โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ควรรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายโดยคิดจากราคา 160,000 บาท ขอให้มีคำสั่งเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจากราคาที่คำนวณครั้งแรก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ได้กำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย โดยให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึด หมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งต้องไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 26,957.13 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 7กันยายน 2522 เป็นต้นไปเมื่อคิดคำนวณยอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาโดยคิดถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 อันเป็นวันที่โจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยเนื่องจากจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีจำนวนไม่ถึง 160,000 บาท อันเป็นราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดและเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ในครั้งแรกเช่นนี้โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่ง ของจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในการบังคับคดีอันมีจำนวนน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ดังนั้นไม่ว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดจะมีราคาประเมินจำนวน 160,000 บาท หรือจำนวน 2,527,300 บาท ก็ไม่มีผลทำให้ความรับผิดในค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปได้ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นดังกล่าวต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย ในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในการบังคับคดี

Share