แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 49,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 240,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดไร้อุปการะเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 120,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้องทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา สำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000บาท ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ตายเพียงฝ่ายเดียว หรือผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย และโจทก์เรียกค่าขาดไร้อุปการะสูงเกินจริง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นพิพาทว่า ได้มีการตกลงระงับข้อพิพาทกันแล้ว โดยอ้างข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสำคัญเพียงฉบับเดียว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2นำสืบอ้างว่ามีการตกลงระงับข้อพิพาทกันตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเพิ่มเติมในชั้นสืบพยานจำเลยจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ทั้งเอกสารฉบับนี้ไม่ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ในบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 2 ด้วย จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามป.วิ.พ.มาตรา 87
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายจากมูลละเมิด จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฉะนั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และ ที่ 2ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 850, 851 สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ จึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างเอาสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้หาได้ไม่